'นิคมอ้อย' ต้นแบบเพิ่มผลผลิต/ไร่ ใช้พื้นที่เท่าเดิม
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 51
'นิคมอ้อย' ต้นแบบเพิ่มผลผลิต/ไร่ ใช้พื้นที่เท่าเดิม
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งจัด ทำ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตอ้อยเป็นพืชพลังงานทดแทน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติพลังงานของประเทศ ซึ่งเบื้องต้นได้ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้สูงขึ้นจากเดิม 9.6 ตัน เป็น 13 ตัน/ไร่ โดยไม่มีแผนขยายพื้นที่ปลูกใหม่ แต่ยังคงพื้นที่ปลูกเดิมประมาณ 6.4 ล้านไร่ ซึ่งปี 2551 นี้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตอ้อยโรงงาน ได้ไม่น้อยกว่า 66 ล้านตัน หรือในรูปน้ำตาล 7 ล้านตัน เป็นความต้องการบริโภคภายในประเทศ 2 ล้านตัน และส่งออกประมาณ 5 ล้านตัน
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ส.ป.ก.ได้มีแผนเร่งขับเคลื่อนโครงการนิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน รองรับนโยบายปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ปี 2551-2552 ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งในส่วนของการจัดตั้ง นิคมการเกษตรอ้อย มีเป้าหมายดำเนินการนำร่องใน 2 พื้นที่ คือ จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 50,000 ไร่ และมุกดาหาร 10,000 ไร่ เกษตรกรประมาณ 3,000 ราย แต่ช่วงปีแรกนี้จะเร่งจัดตั้งนิคมฯ อ้อยให้แล้วเสร็จก่อน 20,000 ไร่
กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ ส.ป.ก.เป็นเจ้าภาพหลัก ในการจัดตั้งนิคมการเกษตรอ้อยในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีแผนดำเนินการ 5 ระยะ ๆ ละ 10,000 ไร่ มุ่งเพิ่มศักยภาพ การผลิตและพัฒนาการบริหารจัดการสินค้าอ้อยแบบครบวงจร (ZONING) เน้นให้เกษตรกรจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนพร้อมสนับสนุนให้เข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม รวมถึงแหล่งทุนและเข้าถึงระบบตลาดด้วย
ขณะนี้ได้เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรจัดตั้งศูนย์ผลิตพันธุ์อ้อยชุมชน 1 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตท่อนพันธุ์อ้อยพันธุ์ดี ได้แก่ พันธุ์แอลเค 95-118, พันธุ์แอลเค 95-126 และพันธุ์แอลเค 92-11 กระจายพันธุ์ที่มีคุณภาพไปสู่เกษตรกรในโครงการฯ ได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน/ปี ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้จัดตั้ง ศูนย์บริการเครื่องจักรกลชุมชน 1 ชุด งบประมาณ 4 ล้านบาท พร้อมสนับสนุนให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนเข้าสู่แหล่งทุน วงเงินกู้รวมกว่า 7.5 ล้านบาท เพื่อนำไปเป็นทุนหมุนเวียนและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต
นอกจากนั้นยังเร่งให้เกษตรกรปรับปรุงบำรุงดินให้มีศักยภาพ และเหมาะสมต่อการเพาะปลูก โดยเน้นให้ใช้วัสดุกากอ้อยในการพัฒนาคุณภาพดิน และมีเทคนิคการจัดการอ้อยตอด้วย ซึ่งอนาคตคาดว่าเกษตรกรในโครงการฯ จะได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 38% ป้อนเข้าสู่โรงงานเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 130,000 ตัน/ปี เพิ่มเป็น 162,500 ตัน/ปี โดยจะมีโรงงานน้ำตาลทราย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทน้ำตาลทรายนครเพชร จำกัด และบริษัทน้ำตาลทรายกำแพงเพชร จำกัด เข้ามารับซื้อผลผลิตของเกษตรกรภายใต้ ความร่วมมือไตรภาคี หรือคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง (Contract Farming)
อย่างไรก็ตาม คาดว่านิคมการเกษตรอ้อยแห่งนี้ จะเป็นต้นแบบการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต รวมทั้งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นขณะที่ใช้พื้นที่ปลูกเท่าเดิม ทั้งยังทำให้วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ไม่น้อยกว่า 10 วิสาหกิจชุมชน และในระยะยาวน่าจะเป็นแหล่งผลผลิตอ้อยคุณภาพดีป้อนโรงงานน้ำตาล และรองรับอุตสาหกรรมเอทานอลที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ช่วยทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 สิงหาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=172293&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น