เดินหน้ายุทธศาสตร์พืชพลังงานทดแทน ดันไทยเป็นโอเปกพืชพลังงานในอนาคต
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 51
เดินหน้ายุทธศาสตร์พืชพลังงานทดแทน ดันไทยเป็นโอเปกพืชพลังงานในอนาคต
วิกฤติพลังงานที่กำลังส่งผลกระทบ ต่อหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ รวมถึงประเทศไทย จากวิกฤติดังกล่าว หากมองในแง่ของโอกาส ก็นับว่าเป็นโอกาสทองของภาคเกษตรไทย ที่เป็นฐานการผลิตพืชอาหารที่สำคัญ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนรองรับความต้องการใช้ในประเทศได้ ดังนั้น เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้มีการจัดทำ ยุทธศาสตร์รองรับวิกฤติพลังงาน โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานของประเทศ เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลด้านการผลิต จึงมีนโยบายสำคัญในการเพิ่มผลผลิตพืชพลังงานทดแทน ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อตอบสนองความต้องการสำหรับบริโภคเป็นอาหารและผลิตพลังงานทดแทน โดยกำหนดให้รักษาระดับพื้นที่ปลูกให้อยู่ในปริมาณเท่าเดิมไม่ขยายพื้นที่ปลูกใหม่เพื่อไม่ให้กระทบกับพืชอาหาร โดยจะใช้วิธีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นแทน เช่น การใช้พืชพันธุ์ดี ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิต ด้วยต้นทุนการผลิตเท่าเดิมหรือลดลง
นายธีระชัย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ พืชพลังงานทดแทน นอกจากเป้าหมายหลักที่ต้องการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศแล้ว ยังมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นโอเปกพืชพลังงานที่สำคัญของโลกอีกด้วย โดยมาตรการสำคัญ คือ การคงพื้นที่ปลูกทั้งมันสำปะหลัง และอ้อยให้อยู่ในปริมาณเท่าเดิม และหันมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างแรงจูงใจในการผลิตพืชพลังงาน โดยในส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยนั้น ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งพัฒนาขยายพันธุ์อ้อยปลอดโรค เช่น สุพรรณบุรี ขอนแก่น 3 โดยผลิตท่อนพันธุ์อ้อย 5.6 ล้านท่อน แจกจ่ายให้เกษตรกร ควบคู่กับพัฒนาระบบการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตอ้อยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นอกจากนี้ ภาครัฐได้ยกระดับราคาอ้อยให้สอดคล้องกับต้นทุนของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการปลูกอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลและเอทานอลต่อไป
ส่วนการส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังเป็นพืชพลังงานทดแทน เน้นส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดีให้ผลผลิตสูง เช่น พันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 9 พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิ ภาพการผลิตมันสำปะหลังให้ด้วย นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้วิเคราะห์พื้นที่ เพื่อคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการอย่างเหมาะสมตามศักยภาพ ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายจ่ายลดลงเนื่องจากพื้นที่เหมาะสมทำให้ไม่ต้องลงทุนปรับสภาพพื้นที่มากนัก
ปัจจุบันเกษตรกรมีความพร้อมและศักยภาพในการผลิตพืชพลังงานอยู่แล้ว เชื่อมั่นว่าหากได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากทุกภาคส่วน จะยิ่งทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิตมากขึ้นไปอีก กระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะผลักดันให้พืชพลังงานเหล่านี้เข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล อย่างครบวงจร โดยตั้งใจไว้ว่าจะพัฒนาให้ภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตพืชพลังงานของประเทศ และวางเป้าหมายให้ไทยเป็นโอเปกพืชพลังงานของโลกรองจากบราซิลให้ได้ในอนาคต.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 สิงหาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=172430&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น