เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 51
“พืชอาหารและพืชพลังงาน” เป็นปัจจัยที่ประชากรทั่วทุกมุมโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่ง อีกทั้งยังหวาดว่าอาจจะเกิดการขาดแคลนในอนาคต
ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชตัวหนึ่งที่แบ่งสัดส่วนออกได้ทั้งสองประเภท ซึ่งปัจจุบันในบ้านเรามีกำลังผลิตและการส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งสิ้น 427,987 ตันคิดเป็นมูลค่า 10,444 ล้านบาท ทำให้ถูกจับตามองว่าเป็นพืชที่มีอนาคตในการสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล
ฉะนั้น ภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง ดังเช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องออกมาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่พร้อมกับการันตีให้ประเทศผู้บริโภคได้เห็นถึง ศักยภาพและคุณภาพ ในการผลิต น้ำมันปาล์ม ที่ป้อนสู่ตลาดโลก
“พญานาค 1” นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล บอกว่า ในปี 2551 นี้ ไทยสามารถผลิต ปาล์มน้ำมันได้ 7.873 ล้านตัน ในรูปของ น้ำมันปาล์มดิบ 1.40 ล้านตัน โดยมีความต้องการบริโภคภายในประเทศ 900,000 ตัน เป็นวัตถุดิบ ผลิตไบโอดีเซล 350,000 ตัน และ ส่งออก 130,000 ตัน คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์ม 39.53 ล้านตัน
รมว.เกษตรและสหกรณ์ บอกอีกว่า ได้จัดทำแผนเร่งขับเคลื่อน “โครงการนิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงาน” ซึ่งปาล์มน้ำมันก็เป็นพืชชนิดหนึ่งในโครงการนี้ โดยมอบหมายให้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมพัฒนาที่ดิน และ กรมส่งเสริม สหกรณ์ ดำเนินการจัดตั้ง นิคมผลิตปาล์มน้ำมันขึ้น 3 นิคม ในจังหวัด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ ปัตตานี มีเป้าหมาย 30,000 ไร่ ช่วงปีแรกนี้จะ จัด โซนนิ่ง (Zoning) นิคมปาล์มน้ำมัน ได้ ไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่/นิคม
ด้าน นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ส.ป.ก.เป็นเจ้าภาพหลักจัดตั้งนิคมปาล์มน้ำมันในพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี 5,000 ไร่ มีเกษตรกรไม่น้อยกว่า 400 ครัวเรือนเข้าร่วม พร้อมกับ จัดตั้งศูนย์ผลิต และ พัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมัน 1 ศูนย์ เนื้อที่ 50 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งผลิตพันธุ์ปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี อาทิ พันธุ์ปาล์มลูกผสมเทนอรา สุราษฎร์ธานี 1-2 และ สุราษฎร์ธานี 3 เพื่อกระจายพันธุ์ไปสู่เกษตรกร จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้การผลิตปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 10 แห่ง
เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวอีกว่า ทั้งยัง ส่งเสริมให้เข้าถึงองค์ ความรู้ จัดฝึกอบรมหลักสูตรการผลิตปาล์มน้ำมัน ครบวงจรและ หลักสูตรการจัดทำบัญชี สนับสนุนหา แหล่งทุน โดยทางส.ป.ก.ได้เตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้ให้ วิสาหกิจชุมชน กู้ยืมไปดำเนิน ธุรกิจรวบรวมผลผลิต หรือ ลานเท เพื่อป้อนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม อย่างน้อย 3 วิสาหกิจชุมชน
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเชื่อมั่นว่า นิคมผลิตปาล์มน้ำมัน จะเป็นแหล่งผลิตทะลายปาล์มสดป้อนเข้าสู่โรงงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมไบโอดีเซล เพื่อใช้เป็น พลังงานทดแทน หรือ น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค
อันจะเป็นขุมทองให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนสร้างอาชีพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 6 สิงหาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=99555