'โรงสีข้าวชุมชน' สนองเศรษฐกิจพอเพียง ลดค่าใช้จ่ายยุคน้ำมันแพง
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 51
'โรงสีข้าวชุมชน' สนองเศรษฐกิจพอเพียง ลดค่าใช้จ่ายยุคน้ำมันแพง
สายลม บุญหว่าน ลูกชาวนาตัวจริง อายุ 44 ปี บ้านขี้ตุ่น ต.โคกสะอาด อ.ลำปลายมาศ จบ ป.4 จากอดีตที่ต้องพบกับความยากลำบาก ได้เห็นวิถีชีวิตการทำนาเคียงคู่รุ่นปู่ย่าตายายมาจนถึงรุ่นของตนเอง และจากความมุมานะบากบั่น ขยัน อดทน บวกกับการเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า หัวไวใจสู้ จากลูกชาวนาในอดีตผู้นี้ ปัจจุบันได้กลายเป็นเจ้าของโรงสีข้าวชุมชนได้ด้วยการบริหารจัดการด้วยตนเอง จนสร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้กับตนเองและชาวนาบริเวณใกล้เคียงที่ไม่ต้องเสียค่าขนส่งเอาข้าวไปขายไกล รวมทั้งยังเป็นแหล่งจำหน่ายข้าวสารให้กับผู้บริโภคในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงได้ ในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปในภาวะรัดเข็มขัดอีกด้วย
สายลมเล่าให้ฟังว่า การเป็นเจ้าของโรงสีข้าวนั้นนับเป็นเรื่องใหญ่ในอดีตที่ลูกชาวนาไม่อาจคาดคิดและไม่มีสิทธิที่จะมาเป็นเจ้าของโรงสีด้วยซ้ำ แต่ด้วยการมองการณ์ไกลที่ว่าหากเกิดภาวะน้ำมันมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉกเช่นในอดีตที่มีคำกล่าวที่ว่า “ชาวนานั้นทำนาปรังเหลือแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีก็เหลือแต่หนี้กับซัง” หากเป็นเช่นนี้ชาวนาก็คงไม่เหลืออะไรเลย เพราะชาวนาต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งข้าวเปลือกไปขายในเมืองที่แสนไกล ต้องเสียทั้งค่าน้ำมัน ค่าแรงงาน ข้าวที่จะขายได้นั้นจะขายได้ราคาเท่าไร ก็ต้องขายเพราะข้าวที่ขนไปขายนั้นเปรียบเสมือน “ผีถึงป่าช้า” ซะแล้ว ขณะนั้นข้าวเปลือกราคาไม่สู้ดี ขายข้าวกลับบ้านเงินแทบจะไม่เหลือเลย ทุนหาย กำไรหด หมดข้าว จนบางครั้งไม่มีเงินใช้หนี้สินที่กู้ยืมมา แถมยังต้องลงทุนปลูกข้าวใหม่ก็ต้องหยิบยืมมาลงทุนหมุนเวียนครั้งต่อไปเป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไปในสังคมชาวนาไทย
ทั้งนี้ กว่าที่สายลมจะมาเป็นเจ้าของโรงสีข้าวได้มีการคิดทบทวนอย่างรอบคอบ เพราะถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ต้องใช้เงินลงทุนมากที่สุดในชีวิต จึงได้ตระเวนศึกษาดูงานด้านโรงสีข้าวชุมชนที่มีอยู่ในเมืองไทยทุกท้องที่มานานกว่า 4 ปี จากนั้นนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเศรษฐกิจแบบพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ข้อสรุปว่า โรงสีข้าวที่เหมาะสม ควรมีลักษณะ สีข้าวได้คุณภาพดีได้ข้าวเต็มเมล็ดสูง (เปอร์เซ็นต์ข้าวต้นสูง) ไม่แพ้โรงสีทั่วไป แต่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด มีความคล่องสูงต่อการใช้งาน ลงทุนต่ำ สะดวก รวดเร็วต่อการใช้งาน มีความสามารถเฉพาะเจาะจงต่อวัตถุประสงค์การใช้งาน ตามที่ต้องการคือโรงสีชุมชนนั้นต้องสามารถสีข้าวตาม ความต้องการของตลาดได้อย่างหลากหลาย ที่สำคัญจะต้องเป็นมิตรกับโรงสีใหญ่สามารถเชื่อมต่อในการทำธุรกิจร่วมกันได้ เพราะจะเป็นการช่วยประหยัดพลังงานให้กับโรงสีใหญ่ที่มีสายป่านการบริหารจัดการที่ยาวไกลในการสีข้าวที่ต้องใช้ทั้งเครื่องจักร พลังงานเชื้อเพลิงและแรงงานคนเป็นจำนวนมาก
ด้วยประสิทธิภาพและคุณภาพที่โดดเด่นตรงตามวัตถุประสงค์ตรงต่อความต้องการใช้งานดังกล่าวข้างต้นของคุณสายลม บวกกับโรงสีข้าวชุมชนซีพีอาร์ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นยอดเยี่ยมประจำปี 2549 จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญและเป็นคำตอบสุดท้ายที่คุณสายลมค้นพบและหันมา ทำธุรกิจโรงสีข้าวให้กับตนเองและชุมชนในท้องถิ่น จึงได้แสวงหาทำเลติดตั้งโรงสีข้าวชุมชนให้อยู่ย่านใจกลางเมืองล้อมรอบด้วย 4 อำเภอที่ทำการปลูกข้าว สามารถรองรับพื้นที่ปลูกข้าวของชาวนา ได้แก่ อ.ลำปลายมาศ อ.เมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ซึ่งโรงสีข้าวชุมชนซีพีอาร์ 1000 นี้ สามารถรองรับพื้นที่การปลูกข้าวได้ 5,000 ไร่ต่อ 1 ฤดูปลูก
แม้ปัจจุบันจะเริ่มทำธุรกิจสีข้าวมาไม่นานนัก แต่ถือเป็นการทำธุรกิจแบบพึ่งพาของคนในชุมชนด้วยการให้บริการชุมชนในพื้นที่ ซึ่งนอกจากคุณสายลมจะมีรายได้ที่ดี เพราะสามารถสีเป็นข้าวสารขายแทนข้าวเปลือกนับเป็นการบีบสินค้าให้มีขนาดเล็กลงและถือเป็นการเพิ่มมูลค่า แม้ในแต่ละวันจะทำข้าวสารไม่มากเหมือนข้าวเปลือก หากแต่การทำน้อยสีเพียงวันละ 1-2 ตัน ก็สามารถทำกำไรได้เห็น ๆ ถึง 3,000- 4,000 บาท แล้วยังชาวนารอบ ๆ บริเวณพื้นที่ตั้งโรงสีเกิดการตื่นตัวถูกใจที่จุดรับซื้อมาอยู่ใกล้ นับเป็นการช่วยลดภาระค่าขนส่งข้าวให้กับชาวนาในภาวะน้ำมันแพง รวมทั้งชุมชนในท้องถิ่นยังสามารถซื้อข้าวสารมาบริโภคในครัวเรือนได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาดอย่างที่คาดไม่ถึง
ณ วันนี้สายลมมีความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตสามารถมีรายได้ที่ดีขึ้น สามารถลดรายจ่ายให้บริการช่วยเหลือคนในชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนา และผู้บริโภคในชุมชน โรงสีข้าวชุมชนแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนหนึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้หลุดพ้นจากความยากลำบากของชาวนาในภาวะวิกฤติน้ำมันแพงได้อย่างดียิ่ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 สิงหาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=172530&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น