เมื่อวันที่ 16 มกราคม 51
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ผดุงศักดิ์ วานิชชัง แห่งภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตรศาสตร์บางพระ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์กระวานอบแห้งด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น มีสีขาวนวลสวยและยังคงคุณค่าทางอาหารและยา
“กระวาน” เป็นพืชล้มลุกมีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า ออกดอกจากเหง้า ผลกลมติดกันเป็นพวง เปลือกเกลี้ยงเป็นพูมีสีนวล เมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาลแก่จำนวนมาก ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร กระวานเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง มีการระบายน้ำดี ต้องการความชื้นสูง ที่ร่มรำไรหรือมีต้นไม้ยืนต้นอื่นให้ร่มเงา
กระวานมี 2 พวกใหญ่ ๆ คือ กระวานแท้ หรือ กระวานเทศ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ส่วนอีกพวกคือ กระวานไทย พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถใช้แทนกระวานเทศได้ดี กระวานมีลำต้นเป็นเหง้าหรือหัวใต้ดิน มีข้อประมาณ 8-20 ข้อ กระวานเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ก้านใบโค้งมีกาบใบติดกัน ใบออกสลับกันที่โคนต้น ใบมีสีเขียวเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ผิวใบเรียบ ใบสูงจากพื้นดินประมาณ 2-12 ฟุต ดอกออกเป็นช่ออยู่ใกล้โคนต้นบริเวณผิวดิน กลีบดอกสีเหลือง ออกผลเป็นช่อ ผลกลม ช่อหนึ่ง มีผลประมาณ 10-20 ผล รูปกลม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 9-18 เมล็ด เมล็ดมีกลิ่นหอมฉุนคล้ายการบูร มีรสเผ็ด
กระวานให้ผลผลิตหลังปลูก 2-3 ปี เก็บผลแก่หลังออกดอกประมาณ 5 เดือนให้ผลผลิตเพียงครั้งเดียวแล้วต้นก็ตายไป หน่อใหม่จะเจริญมาแทนให้ผลผลิตต่อไป การเก็บกระวานต้องเก็บผลแก่จัด มิฉะนั้นเมื่อนำไปทำแห้งผลอาจแตกได้ ควรเก็บเมื่อมีผลแก่จัด 3 ใน 4 ของช่อ ปลิดเอาเฉพาะผลแก่ไปทำแห้งหรือทยอยเก็บเฉพาะผลแก่
การปลูกกระวานควรปลูกเป็นพืชแซมไม้ผล ไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงา การขยายพันธุ์ควรใช้เหง้า ซึ่งเป็นวิธีขยายพันธุ์ที่นิยมเพราะกระวานจะให้ดอกผลเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดปลูก เหง้าที่ใช้เพาะปลูกควรแยกออกจากกอแม่ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 18 เดือน ถึง 2 ปี และเหง้าที่แยกออกมาควรมีหน่อติดมาด้วยประมาณ 2-3 หน่อ และหน่อที่ใช้ควรมีความสูงประมาณ 1-2.5 ฟุต หลุมปลูกกระวาน ควรมีขนาดกว้างxยาวxลึก ประมาณ 50x50x50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นและแถว 2x2 เมตร ไม่นิยมปลูกชิดมาก ต้องเว้นพื้นที่ว่างไว้ให้หน่อได้ขยายเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ฝังหน่อลึกประมาณ 3-4 นิ้ว รดน้ำให้ความชุ่มชื้น
กระวานเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลรักษามาก ควรกำจัดวัชพืชบ้าง ที่สำคัญควรทำการลิดใบ โดยตัดใบและลำต้นที่แห้งแก่ตายหรือมีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์ออกให้หมด เพื่อให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ปกติกระวานไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวนมากนัก นอกจากโรคใบไหม้ซึ่งอาจจะเกิดจากการได้รับแสงแดดมากเกินไป ส่วนศัตรูอื่น ได้แก่ หนู กระรอก และกระแต ซึ่งจะกัดทำลายเมล็ดในระยะรอเก็บเกี่ยว การตัดหน่อกระวานออกจากต้นแม่เพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นนั้น จะมีผลกระทบกระเทือนต่อการติดผลของกระวาน
ผลิตภัณฑ์กระวานเป็นได้ทั้งอาหารและยา สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นกระวานทั้งใบ ลำต้น เหง้าและเมล็ดมาแปรรูปได้ทุกส่วน การผลิตแบบดั้งเดิมมีวิธีการคือ นำกระวานสดไปย่างบนตะแกรงไม้ไผ่ให้รูตะแกรงห่างพอที่จะให้ฝุ่นผงและสิ่งเจือปนหลุดร่วงไปได้ ย่างโดยใช้ไฟอ่อน ๆ ที่ไม่มีเปลว ประมาณ 24 ชั่วโมงโดยให้หมั่นพลิกกลับหรือผึ่งแดดตอนเช้าประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วเก็บและผึ่งต่อตอนบ่ายอีก 2 ชั่วโมง ประมาณ 5-7 วัน ไม่ควรผึ่งแดดตลอดทั้งวันเพราะจะทำให้คุณภาพของกระวานลดลง
ผศ.ผดุงศักดิ์ ได้ พัฒนาวิธีการอบแบบใหม่ โดยอบเมล็ดกระวานสดในเครื่องอบแบบถังหมุน ใช้เวลาในกาอบประมาณ 4 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส จนเหลือความชื้นเมล็ดใน 12% และเปลือก 10% อบเมล็ดกระวานสด 10 กิโลกรัมจะเหลือกระวานแห้ง 3 กิโลกรัม
สำหรับใบกระวาน อบในตู้อบแห้งใช้เวลา 4 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ลดความชื้นจาก 85% เหลือ 10% จากน้ำหนัก 700 กิโลกรัมเหลือ 100 กรัม
ส่วนการอบลำต้นในตู้อบใช้เวลา 4 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ลดความชื้นจาก 91% เหลือ 10% จากน้ำหนัก 1,000 กรัม เหลือ 100 กรัม
สุดท้าย อบเหง้าในตู้อบ ใช้เวลา 5 ชั่วโมงที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ลดความชื้นจาก 92% เหลือ 8% จากน้ำหนัก 1,000 กรัมเหลือ 100 กรัมกระวาน
กระวานจากจังหวัดจันทบุรี ถือว่าเป็นกระวานที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมาก ปริมาณที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ราคาจึงสูงกว่ากระวานจากแหล่งอื่น ๆ โดยทั่วไปจะมีพ่อค้าจากทั้งในเมืองจันทบุรี และพ่อค้าผู้ส่งออกจากกรุงเทพฯ เข้ามารับซื้อกระวานจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเกษตรกรจะต้องมีปริมาณกระวานมากพอสมควร คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ถ้าเกษตรกรมีปริมาณกระวานไม่มากนัก ต้องนำไปขายให้แก่พ่อค้าในเมืองเอง ซึ่งเป็นส่วนน้อย เมื่อพ่อค้ารวบรวมได้ปริมาณมากพอแล้วก็ส่งต่อให้กับผู้ส่งออกและ ผู้ผลิตยาอีกทอดหนึ่ง ตลาดต่างประเทศที่รับซื้อกระวานไทยที่สำคัญ คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=51523&NewsType=2&Template=1