เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 51
ทีมผู้แทนประเทศไทยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ลูกหลานเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ คว้ารางวัลการประกวดแผนธุรกิจระดับโลก สายแผนธุรกิจเพื่อสังคม โดยวางแผนผลิตและจำหน่ายเนื้อวัวด้วยเทคโนโลยีการย้ายฝากตัวอ่อน คาดสร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลให้วงการเนื้อโคไทย หากเกิดขึ้นจริง
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Center, TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ส่งทีม “บริษัท ภูมิใจฟาร์ม จำกัด” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันแผนธุรกิจ 2008 GlobalTiC Talentrepreneur Award ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยทีมฯ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งสาขา The Best Social Entrepreneurship Award ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับแผนธุรกิจที่ช่วยเหลือสังคม โดยได้รับเงินรางวัลมูลค่า 3,000 เหรียญสหรัฐฯ พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
การแข่งขันแผนธุรกิจ 2008 ที่จัดขึ้นนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไต้หวัน และภาคธุรกิจชั้นนำของประเทศไต้หวัน โดยคัดเลือกผู้แทนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เข้าร่วมเสนอผลงานรอบสุดท้าย ทั้งหมดจำนวน 23 ทีม จาก 10 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น จีน โคลัมเบีย สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งทีมผู้แทนประเทศไทยมีทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายศราวุธ ปัญญาสาร, นายสาทิต ชาทิพฮด, นางสาวนนท์ ดวงปากดี, นางสาวคะนึงนิจ ทองเกลี้ยง และนางสาววลีรัตน์ สุขทวี โดยมี อาจารย์ธนกร ราชพิลา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยใช้แผนธุรกิจที่ชื่อว่า “การผลิตและจำหน่ายเนื้อวัวด้วยเทคโนโลยีการย้ายฝากตัวอ่อน (Embryo Transfer)”
นายศราวุธ ปัญญาสาร กล่าวว่า แผนธุรกิจนี้เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นความสำคัญของเกษตรกรในพื้นที่แถบภาคอีสาน คือ จังหวัดสกลนคร ที่มีการเลี้ยงโคอยู่แล้ว แต่ทว่าการเลี้ยงโคของเกษตรกรจะเป็นสายพันธุ์พื้นบ้าน เป็นสายพันธุ์ไทย ที่ให้เนื้อคุณภาพดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สูงมาก ประกอบกับศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีโครงการผสมพันธุ์วัวให้ได้วัวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพเนื้อที่ดี และเลี้ยงง่ายในสภาพแวดล้อมของภาคอีสาน ทีมฯ จึงมีแนวคิดว่าจะวางแผนอย่างไรถึงจะสอดคล้องกับการพัฒนาตรงจุดนี้ด้วย เนื่องจากเกษตรกรมีความชำนาญในการเลี้ยงโคอยู่แล้ว แต่อยากได้สายพันธุ์โคที่มีคุณภาพกว่านี้เพื่อแข่งกับตลาดที่ระดับโคเนื้อคุณภาพสูง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
โดยเทคโนโลยีที่ทีมภูมิใจฟาร์มนำมาใช้ในการวางแผนธุรกิจคือ เทคโนโลยีการถ่ายฝากตัวอ่อน (Embryo Transfer) ซึ่งจะเป็นการดึงจุดเด่นระหว่างวัวสามสายพันธุ์ออกมา ได้แก่ พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศในเมืองไทย แต่ให้คุณภาพเนื้อต่ำ แล้วผสมพันธุ์ด้วยโคสายพันธุ์ทาจิมะ หรือเนื้อโกเบของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดเนื้ออย่างมาก แต่ข้อเสียคือ วัวพันธุ์นี้จะอยู่รอดในสภาพอากาศบ้านเราได้ยาก และสุดท้ายคือ สายพันธุ์วัวนม สีขาว-ดำที่เรารู้จักกันดี ซึ่งที่มีลักษณะเด่นคือ ให้โครงร่างที่ใหญ่ ทำให้การตั้งท้อง การถ่ายฝากตัวอ่อน มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายศราวุธ ปัญญาสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า การวางแผนธุรกิจในขั้นตอนแรก คือ การปรับปรุงพันธุ์ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์โคเนื้อให้มีระดับไขมันแทรก (Marbling) ที่สูงขึ้น เลี้ยงง่าย ต้านทานโรค ทนแล้ง อัตราการเติบโตสูง จากนั้นทำการย้ายฝากตัวอ่อนไปไว้ที่โคนมของกลุ่มเกษตรกรโคนม ทำให้โคนมตั้งท้อง มีลูก ซึ่งก็เป็นผลดีต่อโคนมด้วย เพราะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำนมให้กับโคนม เมื่อเกษตรกรเลี้ยงลูกโคจนมีอายุได้แปดเดือน เราจะซื้อกลับมาแล้วขายต่อให้เกษตรโคเนื้อนำไปขุนต่อ โดยช่วงนี้จะทำการเกษตรแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) คือ มีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงวัว ไปให้คำปรึกษากับเกษตรกร และมีสูตรอาหารพิเศษ ที่ทำให้ได้เนื้อคุณภาพสูง มีการดูแลเรื่องโรคระบาด วิธีการเลี้ยง ทำให้ระบบการเลี้ยงมีประสิทธิภาพ และคุณภาพ เมื่อครบเวลา 2 ปี 6 เดือน ก็จะนำโคมาชำแหละ แปรรูปเป็นเนื้อแช่แข็ง ที่สามารถส่งขายตามร้านต่างๆ ได้ และหากเนื้อโคมีคุณภาพและสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ จะเป็นการยกระดับเนื้อโคไทย ซึ่งส่งผลดีกับเกษตรกร และสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย
อาจารย์ธนกร ราชพิลา อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้แผนธุรกิจของทีมภูมิใจฟาร์มประสบความสำเร็จ คือ เรื่องของสายพันธุ์ หากมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์โคเนื้อที่ดี ก็จะให้ลูกคุณภาพดี ปัจจัยที่สองคือ เรื่องอาหารสัตว์ เพราะการพัฒนาอาหารสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมโคเนื้อ อย่างที่เคยได้ยินว่า ถ้าเป็นเนื้อวัวต้องเป็น “เนื้อโกเบ” ถึงจะอร่อย เนื่องจากการเลี้ยงโคเนื้อที่ญี่ปุ่นจะมีการให้โคกินกากเหล้าสาเก ซึ่งมีคุณภาพทางอาหารสูง และสุดท้ายคือ เรื่องการทำระบบเกษตรแบบมีพันธะสัญญา ซึ่งการให้ความรู้เกษตรกร การตรวจเยี่ยม จะทำให้เกิดองค์ความรู้ และเกษตรกรจะสามารถพัฒนาการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
สำหรับแผนเรื่องงบประมาณการลงทุนนั้น จะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการ 65 ล้านบาท ในปีแรก คาดว่าจะเกิดกำไรประมาณ 50 ล้านบาทต่อทั้งองค์กร ซึ่งมีจุดคุ้มทุนที่อยู่ที่ 2 ปี โดยจะมีเกษตรกรที่เป็นผู้ร่วมโครงการเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์นี้ไม่ต่ำกว่า 500 ครอบครัว และน่าจะขยายได้ถึง 5,000 ครอบครัว ซึ่งทีมภูมิใจฟาร์มคาดหวังว่าจะช่วยพลิกชีวิตของเกษตรกร ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยให้ลูกหลานทุกคนได้เรียนหนังสือ เพราะราคาที่คาดว่าจะรับซื้อจากเกษตรกรได้คือ กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท ขณะที่ปัจจุบันเกษตรกรขายวัวมีชีวิตได้แค่กิโลกรัมละ 50 บาทเท่านั้น
โดยแผนธุรกิจที่ทีม “บริษัท ภูมิใจฟาร์ม จำกัด” นำไปประกวดที่ไต้หวันนั้นเป็นแผนเดียวกันกับที่ใช้ประกวดแผนธุรกิจเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา New Technopreneur Search 2007 หรือ NTS 2007 เมื่อเดือนธันวาคม 2550 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โดยทีมภูมิใจฟาร์มได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 (ไม่มีทีมใดได้รับรางวัลที่ 1) จึงได้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปประกวดครั้งนี้
นางสาวนนท์ ดวงปากดี เล่าถึงการไปประกวดที่ไต้หวันว่า มีความภูมิใจมาก เนื่องจากเป็นทีมจากมหาวิทยาลัยเล็กๆ แต่ก็ทำได้สำเร็จ ไปได้ไกลถึงระดับโลก ในการแข่งขันที่ไต้หวันนั้นแบ่งออกเป็น 9 สาย โดยภูมิใจฟาร์มอยู่ในสายเพื่อสังคม ซึ่งมี 4 ทีม ประกอบด้วย ประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น และโคลัมเบีย ในวันแรกเป็นการนำเสนอ 8 นาที เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลในพื้นที่เลี้ยงโคเนื้อจริงในจังหวัดสกลนคร และตอบคำถามกรรมการอีก 12 นาที เกี่ยวกับแผนธุรกิจที่เกิดขึ้นทั้งหมด อาทิ มีการซักถามเรื่องเทคโนโลยี การเงิน และพิจารณาว่าโครงการนี้สามารถเป็นไปได้หรือไม่ และวันที่สองเป็นการแสดงนิทรรศการ เกี่ยวกับผลการวางแผนธุรกิจนี้ ผลปรากฏว่าทีมภูมิใจฟาร์มของเราได้รับรางวัล The Best Social Entrepreneurship Award ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับแผนธุรกิจที่ช่วยเหลือสังคม ส่วนที่ว่าแผนธุรกิจนี้จะนำไปใช้ได้จริงหรือไม่นั้น มองว่าเป็นเรื่องของอนาคต ถ้าหากมีคนสนใจลงทุนจริง ก็น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นการวางแผนจากพื้นฐานข้อมูลจริงในการเลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
สำหรับความสำเร็จของเยาวชนไทยครั้งนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในต่างจังหวัด ได้เห็นคุณค่า เห็นศักยภาพของตัวเองว่า ถ้าผ่านการทำงานหนัก ผ่านการมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง จะสามารถเดินไปสู่ความสำเร็จได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 7 สิงหาคม 2551
http://www.naewna.com/news.asp?ID=117242