กระทรวงเกษตรกับการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 51
กระทรวงเกษตรกับการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นโครงการที่รัฐบาลใช้เป็นมาตรการช่วยเหลือ หรือแทรกแซงเพื่อยกระดับราคาผลิตผลการเกษตรให้สูงขึ้น ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพตามสภาวะเศรษฐกิจ สำหรับปี พ.ศ. 2551 ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนผ่านกระทรวงการคลัง ให้ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัด เป็นผู้ดำเนินการบริหารโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และองค์การคลังสินค้า (อคส.)
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับผิดชอบในการออกหนังสือรับรองผู้ปลูกข้าวนาปรังปี 2551 เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นหลักฐานในการนำข้าวเปลือกไปฝากไว้กับโรงสีที่ขึ้นทะเบียนกับ อคส. และ อคส. จะออกใบประทวนสินค้าให้แก่เกษตรกรนำมาจำนำกับ ธ.ก.ส. สำหรับข้าวเปลือกที่เกษตรกรนำมาฝากไว้ที่โรงสีจะแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้วนำไปเก็บรักษาไว้ในโกดังกลาง ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับ อคส.เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางวงเงิน 1,132.17 ล้านบาท ให้เป็นค่าใช้จ่ายในการ ดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยมีเป้าหมายรับ จำนำข้าวเปลือกจำนวน 2.5 ล้านตัน ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2551 ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ภายหลังจากได้รับนโยบายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเรื่องดังกล่าวก็ได้แจ้งหลักเกณฑ์ และขั้นตอนการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 ให้แก่สหกรณ์ที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ ซึ่งสหกรณ์การเกษตรที่มีโรงสีจะเข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการรับรองศักยภาพในการ รับฝากและสีแปรสภาพข้าว จากกรมส่งเสริมสหกรณ์โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่เข้าไปตรวจสอบความพร้อม ก่อนโดยกรมฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดรับรองความเป็นสถาบันเกษตรตามที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ด้านศักยภาพของสหกรณ์การเกษตร ที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องมีโรงสี ลานตาก เครื่องอบลดความชื้น และโกดัง
สหกรณ์การเกษตรที่มี โรงสีข้าวในพื้นที่ภาคกลาง 34 สหกรณ์ (34 โรงสี) อาทิ สหกรณ์การเกษตร คลองหลวง จำกัด สหกรณ์การเกษตรลำลูกกา จำกัด จังหวัดปทุมธานีสหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรี จำกัด สหกรณ์การเกษตรดอนเจดีย์ จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี สหกรณ์การเกษตรท่าโขลง จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ้านหมี่ จำกัด จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
พื้นที่ภาคเหนือ 31 สหกรณ์ (32 โรงสี) 13 จังหวัด ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรพิจิตร จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรกำแพงเพชร จำกัด เป็นต้น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 61 สหกรณ์ (62 โรงสี) 15 จังหวัด ภาคใต้ 4 สหกรณ์ (4 โรงสี) 3 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 สหกรณ์ (4 โรงสี) 2 จังหวัด รวมจำนวนสหกรณ์ที่มีโรงสี 134 สหกรณ์ (136 โรงสี) 47 จังหวัด ซึ่งในแต่ละปีจะมีสหกรณ์การเกษตร ที่มีศักยภาพเหล่านี้สมัครเข้าร่วมโครงการมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นข้าวนาปีหรือนาปรัง รวมทั้งเป็นจุดรับจำนำข้าวเปลือก การให้บริการตลาดกลาง เครื่องชั่ง การตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก
นายปริญญา เพ็ง สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพในการรับฝากและสีแปร สภาพข้าวเปลือก ซึ่งทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดจะเป็นผู้รับรองสหกรณ์การเกษตรที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้เนื่องจากสหกรณ์การเกษตรนอกจากจะมีประสิทธิภาพในการแปรสภาพข้าวเป็นข้าวสารที่ได้รับการยอมรับแล้ว สหกรณ์การเกษตรเหล่านี้ยังมีเงื่อนไขที่ดีในการกระจายข้าวสารออกสู่ตลาดทั้งคู่ค้าภายในประเทศและผู้ส่งออก เป็นการสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และรวมถึงโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 ครั้งนี้ด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 สิงหาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=172760&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น