เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 51
ผลที่ตามมาคือ "การประหยัดปุ๋ย" เนื่องจากว่าวิธีการให้ปุ๋ยแบบต่างๆ มีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน อย่างเช่นถ้าให้โดยการหว่านทางดินแบบเดิมๆ ต้นไม้ก็ไม่สามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้ทั้งหมด อาจมีเพียง 30-60% เท่านั้น ที่ต้นไม้นำไปใช้ได้ แต่ว่าหากมีการให้ปุ๋ยพร้อมระบบน้ำ ต้นพืชอาจดูดปุ๋ยไปใช้ได้มากถึง 50-80%
เรื่องการให้ "ปุ๋ย" กับ "กล้วยไข่" พร้อมระบบน้ำมีการศึกษาไว้พอสมควร และได้นำไปทดลองจริงในแปลงปลูกกล้วยไข่ของเกษตรกรหลายแห่ง โดยมี รศ.ดร.อิทธิสุนทร นันทกิจ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ รวมทั้งได้ดัดแปลงและสร้างเครื่องมือต่างๆ ที่หาได้ในประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมสำหรับเมืองไทย
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดความชื้นในดินที่ออกแบบอย่างง่าย และมีราคาถูก สามารถใช้ได้ดีตามสวนขนาดเล็กทั่วไป ตัวระบบให้ปุ๋ยพร้อมน้ำก็ดัดแปลงขึ้นอย่างง่ายๆ โดยใช้ท่อน้ำทั่วไปที่ใช้กันอยู่ประกอบกับอุปกรณ์ที่จำเป็นบางอย่าง ก็สามารถวางระบบให้น้ำพร้อมปุ๋ยได้แล้ว ตัวปุ๋ยที่จะเอามาใช้ในระบบให้น้ำ ก็ไม่ได้นำปุ๋ยเฉพาะที่มีราคาแพงมาใช้ แต่ว่าผสมขึ้นเองจากแม่ปุ๋ยต่างๆ ที่มีขายทั่วไป ทั้งหมดนี้ก็เลยทำให้ระบบให้ปุ๋ยพร้อมน้ำในการปลูกกล้วยไข่ เป็นไปได้ดีและมีชาวสวนหลายรายเห็นประโยชน์และทำตาม จนในที่สุดก็สามารถผลิตกล้วยไข่คุณภาพสูงได้ตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการ
หลายคนมองว่าการวางระบบให้น้ำพร้อมปุ๋ยนี้ต้องลงทุนสูงและกลัวว่าจะไม่คุ้มค่า แต่จริงๆ แล้วน่าคิดให้ละเอียดว่าถ้ายอมลงทุนตอนแรกไร่ละ 8,000-12,000 บาท ใช้ได้นานอย่างน้อย 6 ปี แต่ว่าสิ่งที่ตามมาคือ "ความประหยัด" ในอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ไม่ต้องใช้ในการหว่านปุ๋ยแบบเดิม และที่สำคัญมากกว่านั้น คือ สามารถปรับเปลี่ยนสูตรการให้ปุ๋ยได้ตามต้องการเมื่อใดก็ได้ เพราะว่าในการใช้ปุ๋ยแต่ละครั้งใช้น้อยมาก
ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาว่าเหลือปุ๋ยตกค้างในดินมาก และต้นไม้ก็ดูดปุ๋ยไปใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่สูญเสียมากเหมือนการหว่านลงดิน แต่ว่าการให้ปุ๋ยอย่างนี้ต้องมีความรู้พอสมควร เช่น ก่อนอื่นควรต้องมีการวิเคราะห์ดินก่อนว่า มีธาตุอาหารอะไรอยู่มากน้อยเพียงใด แล้วจึงปรับอัตราการให้ปุ๋ยให้พอเหมาะแก่ความต้องการ และก็ยังต้องดูว่าปลูกต้นไม้หนาแน่นมากน้อยแค่ไหน
หากปลูกแน่นมาก การใช้ปุ๋ยก็ต้องมากตามไปด้วย ตัวเนื้อปุ๋ยที่จะใช้ผ่านระบบน้ำ คงไม่สามารถใช้ปุ๋ยอัดเม็ดที่ขายตามท้องตลาดมาใช้ได้โดยตรง เพราะว่าในการปั้นเม็ดต้องมีการใช้ดิน หรือวัสดุอื่นผสมลงไปเพื่อให้ปั้นเป็นเม็ดได้ หากเอาปุ๋ยแบบนี้มาละลายน้ำก็จะมีตะกอนและเกิดการอุดตันในระบบได้ จึงต้องไปหาแม่ปุ๋ยที่ละลายน้ำได้หมดจดมาใช้แทน นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้อีกว่าแม่ปุ๋ยชนิดใด สามารถผสมเข้ากันได้กับปุ๋ยชนิดอื่นหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาเคมีหรือเกิดการตกตะกอน
รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้ หากใครต้องการทราบเพิ่มเติมก็คงต้องติดต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญโดยตรงอย่างที่ให้ชื่อและที่อยู่ไว้แล้วตอนต้นนั่นแหละครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 11 สิงหาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/08/11/x_agi_b001_215554.php?news_id=215554