เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 51
ในจำนวนพืชพลังงานเหล่านี้ผลจากการที่เนชั่นแชนแนลร่วมกับ "คม ชัด ลึก" จัดสัมมนาระดับชาติ "ยุทธศาสตร์ประเทศไทย : ศูนย์กลางอาหารโลกและพืชพลังงาน" ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาฯ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา ต่างฟันธงว่า พืชพลังงานที่มีศักยภาพมากที่สุดในการที่จะผลิตไบโอดีเซลคือน้ำมันปาล์ม จากปาล์มน้ำมัน ส่วนการผลิตเอทานอลนั้น อ้อยดีที่สุด แต่ทั้งนี้พืชทั้งสองชนิดนี้มีข้อจำกัดตรงพื้นที่การปลูกที่จะต้องมีน้ำเพียงพอ ขณะที่มันสำปะหลังก็มีความจำเป็นเหมือนกันตรงที่ว่าสามารถปลูกในเกือบทุกสภาพอากาศแม้กระทั้งแล้งจัดเป็นต้น
รศ.ดร.วิจารณ์ วิชุกิจ คณบดีคณเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวว่า ในฐานะเป็นนักวิชาการมองว่าพืชพลังงานที่จะนำมาเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นไม่ว่าจะเป็นเป็นปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง ต่างเป็นพืชที่จะผลิตอาหารด้วย ซึ่งหลายคนอาจระแวงว่า ในอนาคตจะทำให้น้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค รวมน้ำตาล และแป้งมันอาจะแพงขึ้นนั้น ขอยืนยันไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะน้ำมันปาล์มทางภาครัฐสนับสนุนในการที่จะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มอยู่แล้ว อย่างปัจจุบันไทยผลิตน้ำมันปาล์มที่สามารถจะบริโภคถึง 300 ล้านคน แต่คนไทยมีกว่า 60 ล้านคน หรือบริโภคน้ำมันปาล์มเพียง 1 ล้านลิตรต่อปีเท่านั้น ขณะที่แป้งมันคนไทยบริโภคเฉลี่ยคนละ 7.5 กก.ต่อปีเท่านั้น แม้กระทั่งน้ำตาลก็เพียงพออยู่แล้ว
"เท่าที่ผมอยู่ในแวดวงเกษตรกว่า 20 ปี ผมพูดได้เลยว่า เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังจะจนกว่าเกษตรกรปลูกอ้อย ใบหน้าของเกษตรที่ปลูกอ้อยจะยิ้มแย้มแจ่มใสมากกว่าคนปลูกมันสำปะหลัง จะเห็นได้ทุกวันนี้มีโรงงานผลิตเอทานอล 11 โรง มีเพียงโรงเดียวเท่านั้นที่ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง อีก 10 โรงผลิตเอทานอลจากอ้อย ฉะนั้นถ้าจะปลูกพืชพลังงานผลิตไบโอดีเซลต้องปาล์มน้ำมัน ส่วนจะผลิตเอทานอลอ้อยดีที่สุด มันสำปะหลังแย่ที่สุด" รศ.ดร.วิจารณ์กล่าว
ด้าน นายเอนก ลิ่มศรีวิไล นักวิจัยและพัฒนาพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ปาล์มโกลเด้น เทเนอร่า ในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด โกลเด้น เทเนอร่า จ.กระบี่ กล่าวว่า ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า พืชพลังงานที่จะผลิตไบโดอีเซลได้นั้นที่ดีที่สุดคือน้ำมันปาล์มจากปาล์มน้ำมันนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มราว 3 ล้านไร่ มีผลผลิตต่อปีกว่า 5 ล้านตันถือว่าน้อย เพราะประเทศไทยมีการปลูกปาล์มสายพันธุ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง แต่อนาคตเชื่อว่าประเทศไทยจะมีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 10 ล้านตัน ในจำนวนนี้ใช้บริโภคราว 1 ล้านตัน
"ทุกวันนี้ผมกล้าพูดได้เลยว่า หากจะทำการเกษตรปลูกปาล์มดีที่สุด ตอนนี้เราใช้ประโยชน์จากปาล์มเพียงน้อยนิด เพราะเราใช้เฉพาะบริโภคเป็นหลัก ทั้งที่ตัวของผลผลิตปาล์มมีมากมายมหาศาล ผมกล้าบอกได้ว่าต่อจะให้ประเทศไทยปลูกปาล์ม 20 ล้านไร่ก็ไม่มีปัญหาด้านราคา เพราะตอนนี้ผลปาล์มราคายังสูงอยู่ หากอยู่ในราคากิโลกรัมละ 4-4.50 บาท เกษตรกรก็อยู่ได้ ภาคอุตสาหกรรมที่จะผลิตไบโอดีเซลก็อยู่ได้" นายเอนกกล่าว
ส่วน นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท เพโทร กรีน จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอล 11 โรง สามารถผลิตเอทานอลได้ราว 1.5 ล้านลิตรต่อปี และจะเพิ่มขึ้นอีก 3 โรงในปลายปีนี้ ซึ่งการเพิ่มอีก 3 โรงนั้นเป็นการผลิตเอทานอลจากอ้อยทั้งสิ้น มีเพียงโรงเดียวเท่านั้นที่ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง นั่นแสดงให้เห็นว่าการปลูกพืชพลังงานเพื่อผลิตเอทานอลอ้อยดีที่สุด ถือว่าอ้อยนั้นเป็นพืชพลังที่ฟ้าประทานลงมา เพราะขั้นตอนการแปรรูปง่ายคือแปรรูปเป็นน้ำตาล จากน้ำตาลผลิตเอทานอลได้เลย ขณะที่มันสำปะหลังขั้นตอนยากกว่า
"ตอนนี้เกษตรกรปลูกอ้อยราว 6 ล้านไร่ มีผลผลิตราว 80 ล้านตันต่อปี จำนวนนี้เพียง 30% เท่านั้นที่บริโภคภายในประเทศ ถามว่าการผลิตเอทานอลจากอ้อยคุ้มหรือไม่ ตอบว่าคุ้มครับ ถ้าราคาน้ำมันยังอยู่ที่บาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ สังเกตได้จากประเทศบราซิล ตอนนี้บราซิลใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพียงนิดเดียวเท่านั้น ส่วนจะเน้นแก๊สโซฮอล์มาจากอ้อยทั้งนั้น" นายประวิทย์กล่าว
ขณะที่ ดร.ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันวิจัย และเทคโนโลยี ปตท. บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน ) กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศมีการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอ้อย หากผสมมากไปก็อาจมีปัญหากับเครื่องยนต์ ซึ่งผู้ผลิตยังเน้นการใช้น้ำมันเบนซินเป็นหลัก ขณะที่หลายประเทศมีการผสมถึง 85% แล้ว แต่การผสมมากไปอาจจะเพิ่มก๊าซมีเทน ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนด้วย อย่างไรก็ตามแม้จะมีผสมเพียง 5% ก็ถือว่าคุ้ม แม้ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลก็ตาม
หากจะประเมินจากการเสวนาในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า พลังงานแห่งอนาคตที่จะมาทดแทนพลังจากน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นคือปาล์ม น้ำมันดีที่สุดตามด้วยอ้อย ส่วนมันสำปะหลังแม้จะด้อยกว่า แต่บางพื้นที่ก็จำเป็นต้องปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งนั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 18 สิงหาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/08/18/x_agi_b001_216401.php?news_id=216401