เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 51
ดังนั้นจึงได้มีการวิจัยเกี่ยวกับไหมอีรี่หลายเรื่องในเมืองไทย เพื่อพยายามผลักดันให้เป็นอาชีพทางเลือกอีกอย่างหนึ่งของคนไทย งานวิจัยส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการพัฒนาเทคนิคการเลี้ยง ซึ่งขณะนี้ประสบความสำเร็จสูงในระดับหนึ่ง ได้ข้อมูลว่าการเลี้ยงไหมอีรี่ด้วยใบมันสำปะหลัง สามารถทำได้ผลดีมาก อย่างในพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังมาก เช่น ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็สามารถนำไหมอีรี่ไปเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี
ประกอบกับในเขตนี้มีความชำนาญในเรื่องหัตถกรรมพื้นบ้านที่เกี่ยวกับผ้า ไม่ว่าจะเป็นการทอ การย้อม และการทำเป็นผลิตภัณฑ์ปลีกย่อยต่างๆ มากอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสที่น่าจะเรียกได้ว่าดีมาก ในการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไหมอีรี่ในเขตนี้มากขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นเพื่องานหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยยังไม่ต้องมองเป้าหมายอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
จุดเด่นของไหมอีรี่ก็คือการที่ตัวหนอนไหมกินใบมันสำปะหลังและใบละหุ่งเป็นอาหาร แต่ว่าเมืองไทยหาใบละหุ่งได้ยากมาก แต่ว่ามีการส่งเสริมการปลูกมันกันมาก ดังนั้นแหล่งอาหารของไหมอีรี่จึงไม่น่าจะขาดแคลน และเคยมีการศึกษาไว้เบื้องต้นว่า ถึงแม้จะเด็ดใบมันสำปะหลังออกมา 30% เพื่อใช้เลี้ยงไหม ก็ไม่ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงเรียกได้ว่าปลูกมันก็มีผลพลอยได้คือใบที่ใช้เลี้ยงไหมอีรี่ได้อีก
นอกจากนี้จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือการทำด้ายจากเส้นไหมใช้วิธีการปั่นเส้นใยแบบเดียวกับฝ้าย ไม่ได้ใช้วิธีสาวเหมือนไหมหม่อน นั่น คือไม่ต้องจับตัวดักแด้มาต้ม แต่สามารถรอให้ดักแด้ฟักเป็นตัวผีเสื้อแล้วรวบรวมเปลือกรังไหมไว้ให้ได้มากพอแล้วนำมาปั่นทีเดียวแบบฝ้ายก็ได้
อย่างไรก็ตามไหมอีรี่เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ของเมืองไทย ดังนั้นจึงยังต้องการองค์ความรู้อีกหลายด้าน เพื่อจะได้นำมาใช้ในการพัฒนาขึ้นมาให้เป็นอาชีพได้ ความรู้หลายเรื่องก็สามารถนำมาจากประเทศที่เคยเลี้ยงได้ผลดีแล้วอย่างเช่น อินเดีย แต่ว่าบางอย่างเราจำเป็นต้องพัฒนาเองเพื่อให้เกิดเอกลักษณ์ และได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใคร
ทุกวันนี้เรื่องการทอผ้าจากไหมอีรี่ ก็มีงานวิจัยที่ทำขึ้นโดย ดร. รังสิมา ชลคุป จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และทีมงานอีก 2 ท่านได้ช่วยกันวิจัยการผลิตเส้นด้ายและผ้าจากไหมอีรี่ โดยเอาไปผสมกับฝ้าย เพื่อให้ได้ผ้าที่มีเนื้อสัมผัสแตกต่างออกไปจากผ้าฝ้ายหรือไหมธรรมดา โดยมีการพลิกแพลงหลายรูปแบบ เช่นใช้เส้นยืนเป็นฝ้ายและใช้เส้นพุ่งเป็นด้ายปั่นผสมระหว่างฝ้ายและไหมอีรี่ในปริมาณต่างๆ กัน
ผลที่ได้ก็พอสรุปได้ว่าการผสมไหมอีรี่เข้าไปยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้คุณสมบัติของผ้าดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยืดตัว ความทนทานต้านแรงฉีกขาด เรียกได้ว่าไหมอีรี่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับด้ายผสม แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความสวยงามของผ้าจากไหมอีรี่นั้นดีกว่าจากผ้าฝ้ายธรรมดาครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 18 สิงหาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/08/18/x_agi_b001_216403.php?news_id=216403