กรมหมอดินเปิดแผน 3 มาตรการเด็ดบรรเทาโลกร้อน
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 51
กรมหมอดินเปิดแผน 3 มาตรการเด็ดบรรเทาโลกร้อน
วันนี้...เรื่องที่กำลังเป็นที่วิตกกังวลของคนทั้งโลกคือ “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งภาวะดังกล่าวส่วนหนึ่งก็เกิดจากผลของการกระทำของมนุษย์นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์หรือโรงงาน ส่วนภาคเกษตรเองก็เกิดจากการเผาตอซังเศษพืชซึ่งเป็นกิจกรรมที่มักเกิดขึ้นประจำในช่วงของการเตรียมพื้นที่เพื่อทำการเกษตรรอบใหม่ แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ภาคเกษตรจะมีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศจริง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอุตสาหกรรมแล้วยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ที่สำคัญภาคเกษตรนี่แหละที่จะสามารถเป็นตัวช่วยในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนลงดินได้เป็นอย่างดี หากมีการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะผู้กำกับดูแลภาคเกษตรของประเทศ ไม่นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์นี้ ได้เร่งระดมกำลังทุกหน่วยงานในสังกัดบูรณาการร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในภาคเกษตร กรมพัฒนาที่ดินหนึ่งในหน่วยงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ออกมาตรการ 3 ด้าน สำหรับแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนพร้อมกับเร่งดำเนินการทันที
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดี กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงแนวทาง การบรรเทาภาวะโลกร้อนในภาคเกษตรว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของโลกร้อนของภาคเกษตรหลัก ๆ อยู่ที่การเผาตอซังเศษพืช ดังนั้น แผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของกรมพัฒนาที่ดิน จึงกำหนดมาตรการไว้ 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ มาตรการที่ 1 รณรงค์งดเผาตอซังและหันมาไถกลบตอซังเศษพืชแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโดยปรับเปลี่ยนนำก๊าซมากักเก็บไว้ในดินแทน ซึ่งแนวทางนี้ไม่เพียงช่วยชะลอการปลดปล่อยก๊าซขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเท่านั้น ยังช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุ ให้กับดินทำให้ดินอุดมสมบูรณ์มีประสิทธิภาพในการเพาะปลูกมากขึ้นด้วย ซึ่งกรมฯ จะจัดกิจกรรมสาธิตการไถกลบตอซัง โดยคัดเลือกพื้นที่ของเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศจัดเป็นแปลงสาธิตการไถกลบตอซังรวมเนื้อที่ 20,000 ไร่ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรได้เห็นประโยชน์จากกิจกรรมนี้ นอกจากนั้นก็จะใช้แปลงสาธิตเหล่านี้เป็นจุดศึกษาเปรียบเทียบผลของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
ส่วนมาตรการที่ 2 คือส่งเสริมการปลูกต้นไม้โตเร็วหรือต้นไม้เศรษฐกิจเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว เนื่องจากต้นไม้เปรียบเสมือนเป็นโรงงานดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นดี แต่ปัจจุบันโรงงานเหล่านี้ถูกทำลายต้นไม้มีปริมาณลดน้อยลงอย่างมาก เราจำเป็นต้องสร้างแหล่งดึงดูดก๊าซเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ โดยเบื้องต้นได้ตั้งงบประมาณไว้ 65 ล้านบาท สำหรับใช้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้โตเร็วหรือไม้เศรษฐกิจ ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมายใน 9 ลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ ลุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ลุ่มน้ำห้วยกระเสียว ลุ่มน้ำป่าสักตอนล่าง ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนบน ลุ่มน้ำแม่น้ำปราณบุรี ลุ่มน้ำคลองท่าราช ลุ่มน้ำลำพระเพลิง ลุ่มน้ำลำตะคอง และลุ่มน้ำปากพนัง รวมพื้นที่ปลูก 65,000 ไร่
รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวต่ออีกว่า สำหรับมาตรการที่ 3 จะเน้นการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่มีผลกระทบต่อภาคเกษตร โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรตระหนักถึงผลของการเป็นผู้ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันลดภาวะโลกร้อนจากภาคเกษตรให้ได้มากที่สุด เช่น การลดการเผาตอซังและหันมาไถกลบตอซังแทน ปลูกไม้ยืนต้นบนคันนาหรือในพื้นที่ทิ้งร้าง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีที่มีผลต่อการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า ตลอดจนรักษาความชุ่มชื้นให้กับดินเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับคาร์บอนไว้ในดิน เป็นต้น
“การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ได้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่งหรือของเกษตรกรเท่านั้น เนื่องจากเมื่อผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกคนจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมมือร่วมใจกันลดกิจกรรมที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดก๊าซเรือนกระจก” นายฉลอง กล่าวทิ้งท้าย
วิธีง่าย ๆ ที่จะสามารถช่วยลดโลกร้อนได้คือ ลดการตัดไม้ทำลายป่า และช่วยกันปลูกต้นไม้เพียงคนละ 1 ต้นก็ยังดี เท่านี้ก็ถือว่าท่านได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้แล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=51520&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น