20 ส.ค. ดีเดย์ ก.ม.มาตรฐานสินค้าเกษตร รับมือ 'สถานการณ์โลก+ความต้องการลูกค้า'
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 51
20 ส.ค. ดีเดย์ ก.ม.มาตรฐานสินค้าเกษตร รับมือ 'สถานการณ์โลก+ความต้องการลูกค้า'
หลายคนยังสงสัย พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 ที่รัฐบาลไทย โดยกระ ทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ส.ค.นี้ คืออะไร? มีความเป็นมาอย่างไร? อะไรคือเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมี? มีแล้วมันจะส่งผลกระทบต่อใคร? อย่างไร? รวมถึงรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง จะมีแนวทางดูแล ช่วยเหลือ ป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ปัญหาเหล่านี้ คงต้องให้ “ตัวจริง” ซึ่งรับผิดชอบภารกิจด้านนี้โดยตรง อย่าง...“สรพล เถระพัฒน์” ผอ.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นผู้ตอบคำถาม ดูจะ “ตรงเป้าเข้าประเด็น” มากสุด ด้วยหน่วยงานแห่งนี้ ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบการรณรงค์ ส่งเสริม และเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้บริโภค มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรรวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาระบบการผลิต และนำมาตรฐานที่กำหนด ทั้งมาตรฐานบังคับและมาตรฐานทั่วไป ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
นายสรพล อธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมี พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯ ว่า แต่ละปีเราส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศ คิดเป็นเงินราว 1.2 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 15 ของโลก โดยสินค้าเกษตรหลายตัวของไทยได้ชื่อว่ามีการส่งออกติดอันดับ 1 ของโลก เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน มังคุด ฯลฯ จำเป็นที่เราจะต้องยืนยันถึงมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย เพื่อตอกย้ำความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะผู้บริโภคสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีมากถึง 250 ล้านคน ขณะที่คนกลุ่มนี้เอง ก็ถามหาหลักประกันความมั่นใจเรื่องมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเกษตรจากไทยเช่นกัน
“มันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถ้าเราไม่ทำผู้บริโภคทั่วโลกก็จะไม่เชื่อมั่นในมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย ทำให้เราส่งสินค้าเกษตรไปขายไม่ได้ หรือได้บ้างแต่ก็คงไม่ยั่งยืน ซึ่งก็เท่ากับไปทำลายโอกาสสินค้าเกษตรของไทยในเวทีการค้าโลก” นายสรพล อธิบายเพิ่มเติมว่า แน่นอนเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ย่อมจะต้องส่งผลกระทบต่อองคาพยพในหลาย ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะ “ผู้ผลิต” ตั้งแต่ เกษตรกร ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตร คลังสินค้าเกษตร สะพานปลา ห้องเย็น โรงฆ่าสัตว์ หรือกิจการต่อเนื่องอื่นที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร รวมถึงผู้ที่นำสินค้าเกษตรมาบรรจุหีบห่อ แปรรูป หรือกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม รวมถึง ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า แม้กระทั่งหน่วยงานของภาครัฐเอง
ดังนั้น จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องหันมาศึกษาและทำความเข้าในกรอบของกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการควบคุมและตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าเกษตร ซึ่งผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าสินค้ามาตรฐานบังคับ จะต้อง 1.ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตที่กำหนดในกฎกระทรวง 2. ต้องนำสินค้าเกษตรที่ผลิต ส่งออกหรือนำเข้า ขอรับการตรวจสอบจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน และ 3. ต้องแสดงเครื่อง หมายรับรองมาตรฐานบังคับ ก่อนนำสินค้าเกษตรออกจากสถานที่ผลิต หรือก่อนที่จะรับมอบสินค้าเกษตรนั้นไปจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทั้งนี้ ผลดีของ พ.ร.บ.ฉบับนี้นอกจากจะสร้างหลักประกันความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในประเทศผู้นำเข้าแล้ว ยังมีส่วนช่วยยกระดับสินค้าเกษตรของไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีสากลมากยิ่งขึ้น สามารถจะส่งออกไปขายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืนขึ้น อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประเทศได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน เกษตรกรเอง ก็จะมีหลักเกณฑ์ชัดเจนนำสู่การปรับปรุงมาตรฐานของสินค้า เมื่อสินค้าเป็นที่ยอมรับก็ขายได้มากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการ ก็จะมีสินค้าที่มีมาตรฐานไปจำหน่าย และสร้างมูลค่าการค้าได้สูงขึ้น ขณะที่ภาครัฐเอง ก็สามารถจะควบคุม กำกับดูแลการผลิตได้ง่ายขึ้น มีการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้บริโภคในประเทศมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงกับสินค้าเกษตรที่ไร้มาตรฐานและคุณภาพที่ไม่เหมาะสมอีกต่อไป
“ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายคงต้องเร่งปรับตัว ถ้าใครยังไม่ปรับตัว นอกจากความผิดทางกฎหมายแล้ว สินค้าเกษตรที่ผลิตขึ้นมา ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ขาดรายได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น มกอช.เอง ก็พยายาม จะเข้ามาดูแลและคอยให้คำปรึกษา เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุดจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯ นี้” ผอ.มกอช. ย้ำในที่สุด
อนึ่ง ผู้สงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ มกอช. โทร. 0-2561-2277 ต่อ 1176-9 โทรสาร 0-2561-2212 E-mail: atcharkorn @acfs.go.th หรือ
www.acfs.go.th
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 สิงหาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=173976&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น