โครงการทดลองเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก บ้านร่มฟ้าทอง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 51
โครงการทดลองเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก บ้านร่มฟ้าทอง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2536, 19 กุมภาพันธ์ 2537 และ 7 เมษายน 2535 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร อาสาสมัครชาวไทยภูเขา (รอส.) และราษฎรอาสาสมัครกองหนุน บริเวณป่าร่มฟ้าทอง ตำบลปอ กิ่งอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ ทรงมีพระราชดำริกับแม่ทัพภาคที่ 3 ให้จัดทำโครงการศิลปาชีพเพื่อส่งเสริมรายได้และอาชีพให้กับอาสาสมัครและครอบครัว
ต่อมาในวันที่ 23 มกราคม 2541 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริผ่านรองราชเลขานุการ ในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ให้กองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการจัดตั้งฟาร์มเพื่อเป็นที่ฝึกสอนราษฎรในพื้นที่โครงการศิลปาชีพ และในหมู่บ้านโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พมพ.) ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ ที่บ้านร่มฟ้าทอง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยให้ฝึกสอนการเลี้ยงไก่ที่ถูกวิธีและเลี้ยงแกะเพื่อเอาขนแกะมาให้ราษฎรทอผ้าคลุมไหล่จำหน่ายให้ศูนย์ศิลปาชีพ ทั้งนี้ให้ราษฎรมีอาหารโปรตีนในท้องถิ่นจากสัตว์ปีก มีรายได้จากการจ้างแรงงานในการดำเนินงานโครงการ และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2542 สำนักราชเลขานุการ ได้แจ้งมายังสำนักงาน กปร. ทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณารับโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา (เดิม) ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทั้งนี้ทางโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. เพื่อดำเนินงานตามแผนงานต่าง ๆ ในปี 2540- 2549 ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 56,010,738 บาท ในหลายโครงการด้วยกันหนึ่งในนั้นก็คือโครงการทดลองเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก บ้านร่มฟ้าทอง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ให้กับราษฎรในพื้นที่โครงการ ศึกษาวิธีการเลี้ยงสัตว์ในสภาพใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมของเกษตรกร เพื่อให้มีผลผลิตที่ดี โดยเน้นการประยุกต์ เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับสภาพของเกษตรกร และใช้วัสดุที่มีในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อที่ราษฎรสามารถนำไปดำเนินการด้วยตนเองได้ ตลอดจนพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ปีกพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่ในหมู่บ้านให้มีผลผลิตและรายได้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
เป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับสมาชิกของโครงการ โดยการจ้างแรงงานจากราษฎรในพื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างทำการเลี้ยงสัตว์ เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ราษฎร สามารถสร้างทัศนคติความชำนาญและทักษะที่ถูกต้องในการจัดการเลี้ยงสัตว์ได้อีกทางหนึ่ง เป็นแหล่งกระจายพันธุ์สัตว์ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ เพื่อนำไปเลี้ยงด้วยตนเองในหมู่บ้านและเป็นแหล่งผลิตอาหารโปรตีนให้แก่ราษฎร และเพื่อลดปัญหาการบุกรุกแผ้วถางป่าไม้และการล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร มีสำนัก งานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพภาคที่ 3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมป่าไม้ และกรมวิชาการเกษตร
ซึ่งล่าสุดจากที่มีโอกาสเดินทางเข้าไปในพื้นที่กับคณะของสำนักงาน กปร. เมื่อวันก่อนพบว่า ราษฎรได้รับความรู้ในการประกอบอาชีพมากขึ้น ที่สามารถนำมาเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลักได้ ที่สำคัญเป็นผลประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ได้มีแหล่งอาหารโปรตีนไว้บริโภคในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
มีโอกาสพบปะพูด คุยกับราษฎรในพื้นที่โครงการ ทุกคนบอกว่ามีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และจะไม่บุกรุกทำลายป่า ไม่อพยพทิ้งถิ่นฐานไปประกอบอาชีพที่อื่นอีกต่อไป เพราะมีที่ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งอย่างมั่นคงแล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 สิงหาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=174275&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น