สิทธิบัตรโครงการแกล้งดิน
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 51
สิทธิบัตรโครงการแกล้งดิน
โครงการแกล้งดิน เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการศึกษา ทดลอง เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของดิน โดยทำดินให้เปรี้ยวจัดถึงที่สุด แล้วหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ตลอดจนการศึกษาทดลอง และทรงเรียกโครงการว่า “แกล้งดิน”
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรโครงการแกล้งดิน ไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกให้ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2550 เรื่อง “กระบวนการปรับปรุง สภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก” (โครงการแกล้งดิน) ในสาขาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงดิน
ทั้งนี้โครงการแกล้งดินเกิดขึ้นครั้งเมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาสในปี 2524 และทรงพบว่าหลังจากมีการชักน้ำออกจากพื้นที่พรุเพื่อจะได้มีพื้นที่ใช้ทำการเกษตรและเป็นการบรรเทาอุทกภัยนั้น ปรากฏว่าดินในพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิดประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุดและให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศด้วย การแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรียวัตถุหรือซากพืชเน่าเปื่อยอยู่ข้างบนและมีระดับความลึก 1-2 เมตร เป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (pyrite : FeS2) อยู่มาก ดังนั้น เมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ “แกล้งดิน” เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ “แกล้งดินให้เปรี้ยว” ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น “แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด” จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ นับตั้งแต่ ควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์
สำหรับการปรับปรุงดิน มี 3 วิธีการ ตามสภาพของดินและความเหมาะสม คือ 1. ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เมื่อล้างดินเปรี้ยวให้คลายลงแล้วดินจะมีค่า pH เพิ่มขึ้นอีกทั้งสารละลายเหล็กและอลูมินัมที่เป็นพิษเจือจางลงจนทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะถ้าหากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตก็สามารถให้ผลผลิตได้
2. การใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน เช่น ปูนมาร์ล ปูนฝุ่น ซึ่งปริมาณของปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับ ความรุนแรงของความเป็นกรดของดิน 3. การใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เป็นวิธีการที่สมบูรณ์ที่สุดและใช้ได้ผลมากในพื้นที่ซึ่งดินเป็นกรดจัดรุนแรง และถูกปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน
ด้านการปรับสภาพพื้นที่ มีอยู่ 2 วิธี คือ 1. การปรับระดับผิวหน้าดิน ด้วยวิธีการปรับระดับ ผิวหน้าดินให้มีความลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลไปสู่คลองระบายน้ำ ตกแต่งแปลงนาและคันนาใหม่ เพื่อให้เก็บกักน้ำและระบายน้ำออกไปได้ 2. การยกร่องปลูกพืช สำหรับพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ถ้าให้ได้ผลต้องมีแหล่งน้ำชลประทานเพื่อขังและถ่ายเทน้ำได้เมื่อน้ำในร่องเป็นกรดจัด การยกร่องปลูกพืชยืนต้นหรือไม้ผล ต้องคำนึงถึงการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่นั้น หากมีโอกาสเสี่ยงสูงก็ไม่ควรทำ หรืออาจยกร่องแบบเตี้ย ๆ พืชที่ปลูกเปลี่ยนเป็นพืชล้มลุกหรือพืชผัก และควรปลูกเป็นพืชหมุนเวียนกับข้าวได้
เหล่านี้คือคุณูปการเพื่อการแก้ไขปัญหาดินที่ไม่เหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูก ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่อีกครั้งหนึ่งที่เป็นผลมาจากความสำเร็จในการศึกษาวิจัยในโครงการแกล้งดินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
และจากพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานโครงการแกล้งดิน ณ พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัด นราธิวาส ที่ส่งผลให้ราษฎรสามารถทำกันชนพื้นที่ที่ไม่สามารถทำประโยชน์ได้ กลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทางสำนักงาน กปร. ได้ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ชมศูนย์ศึกษา พัฒนาความรู้ ดูนิทรรศการ” ในระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน พ.ศ. 2551 ขึ้น ณ บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อเป็นการ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้เสด็จฯ พระราชทานพระราชดำริจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบศูนย์พัฒนา ที่ประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ ทั้งรูปแบบและวิธีการ เพื่อให้ได้ผลสำเร็จนำกลับไปปฏิบัติในพื้นที่ของตัวเองให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างมั่นคงต่อไป
สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
www.rdpb.go.th หรือโทรศัพท์ 0-7363-1033 หรือ 0-7363-1038 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 สิงหาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=174277&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น