เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 51
หมายความว่า ผลโต สม่ำเสมอ และ รสชาติดี จะไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด แต่หากเป็นลำไยคุณภาพต่ำ หรือปานกลาง เช่น ผลมีขนาดเล็ก ไม่แก่เต็มที่ รสชาติไม่ดี คงต้องหนักใจในเรื่องการผลักดันการขายอย่างแน่นอน
คำถาม คือทำไมชาวสวนจึงผลิตลำไยคุณภาพต่ำเหล่านั้นออกมาขายทั้งๆ ที่รู้ว่า "ขายได้ยาก" คำตอบก็น่าจะมีอยู่ที่เหตุผล 2 ประการ คือ หนึ่งเป็นเรื่องของความไม่รู้เทคนิคที่จะผลิตลำไยคุณภาพดี และสองการผลิตลำไยคุณภาพดีต้องมีการเพิ่มต้นทุนอย่างแน่นอน
ผู้เชี่ยวชาญลำไยของเมืองไทยอย่าง ผศ.พาวิน มะโนชัย จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับคณะอีก 5 คน ซึ่งมาจากต่างสถาบันกัน ซึ่งได้ร่วมมือกันทำโครงการการผลิตลำไยคุณภาพดีต้นทุนต่ำ และได้รับการสนับสนุนจาก สกว. โดยมีเป้าหมายพยายามลดต้นทุนด้วยวิธีต่างๆ และหาทางผลิตออกมาให้ได้ตรงกับช่วงที่ตลาดต้องการ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ได้ลำไยคุณภาพดีโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ "ตลาดส่งออก"
วิธีดำเนินงานของโครงการนี้ คือการพยายามเอาเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่มาจัดเป็นชุด เรียกว่า "ชุดเทคโนโลยี" ได้ทั้งหมด 5 ชุดได้แก่ ชุดเทคโนโลยีการแต่งกิ่งลำไย ชุดการจัดการธาตุอาหาร ชุดการควบคุมการออกดอก ชุดการปรับปรุงคุณภาพผลด้วยการตัดแต่งช่อผล และสุดท้ายเป็นชุดการจัดการโรคและแมลงลำไย
จากนั้นจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใน จ.เชียงใหม่ ที่สนใจจะร่วมโครงการได้ทั้งหมด 11 กลุ่ม โดยประสานงานกับผู้ส่งออกเพื่อรับซื้อผลผลิตและกำหนดช่วงที่ต้องการผลผลิต แล้วถ่ายทอดความรู้ที่เป็นชุดเทคโนโลยีดังกล่าวด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำเป็นโปสเตอร์กระจายไปยังกลุ่มต่างๆ การทำแปลงสาธิต การฝึกอบรมนับ 10 ครั้ง
ผลคือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการผลิตลำไยคุณภาพดีดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยเฉลี่ยแล้วเกินร้อยละ 80 ในขณะที่ประมาณครึ่งหนึ่งนำความรู้เหล่านี้ไปทำต่อในสวนของตนเอง แต่โดยสรุปรวมแล้ว เมื่อทำตามชุดเทคโนโลยีที่แนะนำนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตลำไยนอกฤดูของชาวสวนลดลงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 7.2 บาท หรือเฉลี่ยแล้วลดต้นทุนลงได้ 1/3 ของปกติ ส่งผลให้ชาวสวนมีกำไรมากขึ้น และได้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของลูกค้า
แน่นอนว่าเกษตรกรที่ร่วมโครงการมีความพอใจในโครงการนี้เป็นอย่างมาก จนกระทั่งมีการขยายผลต่อไปในวงกว้างมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงคาดหวังได้ว่าเราคงมีลำไยคุณภาพดีบริโภคกันมากขึ้น และปัญหาเรื่องตลาดก็น่าจะบรรเทาเบาบางลง
ในโอกาสหน้าผมจะนำชุดเทคโนโลยีที่เกริ่นนำไว้แต่ต้นมาเล่าให้ฟัง เพื่อที่ว่าท่านที่สนใจจะได้ลองหยิบไปใช้ หรือติดต่อกับนักวิจัยโดยตรงเพื่อไปปรับปรุงการผลิตลำไยในสวนของท่านต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 25 สิงหาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/08/25/x_agi_b001_217405.php?news_id=217405