'ลองกอง' 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ถูกทอดทิ้ง
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 51
'ลองกอง' 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ถูกทอดทิ้ง
จากปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลุกลามรุนแรง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกษตรกรไม่กล้าเข้าไปทำสวนทำไร่ สภาพสวนจึงขาดการดูแลรักษา ขณะที่พ่อค้าต่างถิ่นก็ไม่กล้าเข้าไปรับซื้อผลผลิตในหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ ไม่กล้าเข้าไปแนะนำส่งเสริมถึงพื้นที่เหมือนแต่ก่อน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรด้อยคุณภาพและราคาตกต่ำลง ซึ่งชาวสวน “ลองกอง” ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ด้วยความห่วงใยพสกนิกรของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่มีต่อชาวสวนลองกองเป็นอย่างมาก จึงทรงมีพระราชดำริให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายผลผลิตได้ในราคาสูงขึ้น
นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับปี 2551 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำ โครงการส่งเสริมพัฒนาการผลิตและตลาดลองกองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรฯ จำนวน 2,476,000 บาท เน้นพัฒนาศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนฯ ทั้ง 75 ศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลาและปัตตานี เพื่อยกระดับคุณภาพผลผลิตลองกองที่ดีให้มีเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจลองกองแก่เกษตรกรเจ้าของสวน และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนให้เป็นกลไกสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพ ผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าและกระจายผลผลิตสู่ตลาดด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวสวนลองกองในพื้นที่ได้
เบื้องต้นกรมฯได้เร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลองกองคุณภาพแบบเกษตรกรมีส่วนร่วมแก่คณะกรรมการศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน รวม 225 ราย เพื่อให้เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิตลองกองแก่สมาชิกและกลุ่มเครือข่าย ทั้งยังจัดอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการศูนย์ฯ การกระจายผลผลิตและการตลาด รวมถึงการจัดการด้านข้อมูล ระบบบัญชี และการเงินด้วย พร้อมกันนี้ยังจัดฝึกอบรมเยาวชนเพื่อพัฒนาคุณภาพลองกอง นำร่องจังหวัดละ 15 ราย เน้นการปรับปรุงสวนและพัฒนาผลผลิตอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ 1.ตัดแต่งกิ่ง ช่อดอกช่อผล การเก็บเกี่ยว การคัดขนาด และการบรรจุหีบห่อ 2.การบริหารจัดการศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนฯ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังได้เตรียมแผนแก้ไขปัญหาผลผลิตลองกองอย่างต่อเนื่อง มีการเชื่อมโยงและวางแผนการผลิต การตลาดระหว่างเกษตรกรกับภาคเอกชน และสนับสนุนให้มีการแปรรูปลองกองเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย เช่น การทำน้ำลองกองบรรจุขวด เป็นต้น โดยดำเนินการนำร่องผ่านกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จังหวัดละ 1 กลุ่ม งบประมาณสนับสนุนกลุ่มละ 50,000 บาท ซึ่งคาดว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 60% จะสามารถผลิตลองกองคุณภาพเกรด A และเกรด B ได้เพิ่มขึ้น และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชนฯ 75 ศูนย์ สามารถบริหารจัดการผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจำหน่ายลองกองได้เพิ่มมากขึ้น
นายทรงศักดิ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้มีพื้นที่ปลูกลองกอง จำนวน 157,301 ไร่ อยู่ในจังหวัดนราธิวาส 80,143 ไร่ ยะลา 53,573 ไร่ และปัตตานี 23,585 ไร่ เป็นเนื้อที่ให้ผล ผลิตแล้ว จำนวน 119,267 ไร่ ซึ่งปีนี้คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตลองกองออกสู่ตลาดประมาณ 4,111 ตัน ลดลงจาก ปี 2550 ที่ได้ผลผลิตมากถึง 83,247 ตัน ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งยังมีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ลองกองออกดอกและติดผลน้อย อย่างไรก็ตาม ปีนี้ไม่น่ามีปัญหาด้านราคาเพราะการที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจะผลักดันให้ราคาขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่า ราคาขั้นต่ำจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 35-50 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพและเกรดของสินค้า
สำหรับผู้ต้องการช่วยเหลือเกษตรกร หรือผู้ที่ต้องการลิ้มรสลองกองสด ๆ จาก 3 จังหวัดภาคใต้มีข่าวดีมาบอกคือ ระหว่าง 1-4 กันยายน กระทรวงเกษตรฯ กำหนดจัดงาน “เกษตรบิ๊กแฟร์ ของดีจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นที่บริเวณกระทรวง เกษตรฯ (ถนนราชดำเนิน) เพื่อเผยแพร่ผลงานการพัฒนาอาชีพการเกษตรที่สามารถขยายผลและเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในงานจะมีการนำผลผลิตลองกองคุณภาพดีมาจำหน่ายด้วย จึงขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมชมงานและช่วยอุดหนุนสินค้า ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 สิงหาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=174659&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น