เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 51
การหันมาปลูกมะละกอโดยใช้เทคนิค "กางมุ้ง" ครอบทั่วแปลงของผู้ใหญ่บ้านหญิง สำรวย เรืองสุชา เกษตรกรวัย 40 ปีเศษ แห่งหมู่ 9 ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี จากการไฝ่รู้ด้วยตนเอง ไปดูงานตามที่ต่างๆ ตลอดจนได้รับคำแนะนำจากภาครัฐ
ทำให้แปลงมะละกอพันธุ์ปลักไม้ลาย บนพื้นที่ 10 ไร่ของเธอมีผลผลิตเพิ่มขึ้น แถมไม่มีปัญหาศัตรูพืชรบกวน ที่สำคัญคุณภาพที่ดีของผลผลิตนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก
ผู้ใหญ่บ้านหญิงสำรวย ย้อนให้ฟัง ว่าครอบครัวทำเกษตรในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) มานานกว่า 30 ปี โดยปลูกส้มเขียวหวานตามเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่ แต่ต้องประสบปัญหาโรคส้มร่วงทำให้ขาดทุนอย่างหนัก จึงได้เปลี่ยนมาปลูกพืชล้มลุกชนิดอื่นแทนและก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
"ต่อเมื่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) มีนโยบายขับเคลื่อนงานบริการสู่ชุมชนเขตที่ดินพระราชทานใน 5 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครนายก และนครปฐม มุ่งพัฒนาเพิ่มผลิตผลการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรทำโครงการผลิตกล้าพันธ์ดีเพื่อการส่งออกเห็นว่าน่าสนใจ จึงเข้าร่วมโครงการ"
เธอกล่าวอีกว่า ราวปี 2547 หลังเข้าร่วมโครงการ ก็ได้ทุนจาก สปก.ให้ไปดูงานที่ประเทศไต้หวัน ก่อนกลับมาปลูกกล้วยหอม 5 ไร่ และปลูกมะละกอพันธุ์ปลักไม้ลาย 10 ไร่ แบ่งเป็นแปลงละ 5 ไร่ โดยทั้ง 2 แปลงปลูกแบบกางมุ้ง เพื่อเป็นแปลงต้นแบบให้เกษตรกรที่สนใจได้ศึกษา พร้อมกันนั้นก็จัดตั้งกลุ่มการปลูกมะละกอแบบกางมุ้งขึ้น โดยมีเพื่อนสมาชิกเข้าร่วมกว่า 10 ราย
"การปลูกแบบมุ้งจะช่วยลดปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชได้ โดยเฉพาะเพลี้ยอ่อนที่เป็นพาหะนำโรค ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยมีนักวิชาการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรจังหวัดปทุมธานีและนักวิชาการจากประเทศไต้หวันมาคอยเป็นพี่เลี้ยงปรึกษาให้คำแนะนำ"
ขณะที่การดูแลนั้น สำรวยเธอบอกว่า ไม่ยากเนื่องจากมะละกอปลักไม้ลายทรงต้นใหญ่ ข้อลำต้นดี มีรากแขนงและรากฝอยมาก ทำให้โตเร็ว การโค่นล้มน้อยและให้ผลดก โดยพื้นที่ 1 ไร่นั้นใช้กล้า 200 ต้น ปลูกห่าง 3x3 เมตร ส่วนพื้นที่ปลูก ต้องไม่มีน้ำท่วมขัง เพราะโอกาสเกิดรากเน่ามีสูง ดังนั้นต้องมีการระบายน้ำที่ดี และเมื่ออายุ 4-5 เดือน ต้องดัดต้นให้เอนนอน ซึ่งเป็นเทคนิคช่วยให้ผลดกมากขึ้น
"เก็บเกี่ยวปีที่แล้ว 1 ไร่ให้ผลผลิต 2 ตัน น้ำหนักต่อผลอยู่ที่ 0.8-2 กิโลกรัม แต่โดยทั่วไปหากจะส่งออกหนึ่งผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ยที่ 1.5 กิโลกรัม ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาก ตลาดมีทุกระดับ ทั้งตลาดสด ภัตตาคาร และโรงแรมต่างๆ สั่งซื้อให้ลูกค้ารับประทานกันมาก" สำรวยแจง และว่าปัจจุบันราคาจำหน่าย อยู่ที่กิโลกรัมละ 17 บาท
ด้วยรูปทรงกระบอก ผิวเปลือกหนา ไม่บอบช้ำง่าย ง่ายต่อการขนส่ง เนื้อสีส้มอมแดง รสชาติหอมหวาน สำรวยเธอบอกว่าเป็นคุณสมบัติที่ตลาดต้องการมาก ดังนั้นจึงเหมาะปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจจำหน่ายทั้งภายในและส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนเกษตรกรรายใดสนใจจะไปชมที่สวนเธอก็ยินดีให้คำแนะนำ หรือโทรศัพท์ติดต่อไปก็ได้ที่โทร. 08-1821-6385 เธอพร้อมให้คำปรึกษาทุกวัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 26 สิงหาคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/08/26/x_agi_b001_217754.php?news_id=217754