แนะวิธีกำจัด 'หอยทาก' ศัตรูสำคัญของกล้วยไม้
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 51
แนะวิธีกำจัด 'หอยทาก' ศัตรูสำคัญของกล้วยไม้
สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ที่มี นางสาวเมทนี สุคนธรักษ์ เป็นอธิบดี จัดทำระบบการจัดการคุณภาพ GAP สำหรับกล้วยไม้ เพื่อรับรองแปลงเกษตรกรที่ปฏิบัติตามแผนการควบคุมการผลิตกล้วยไม้ ให้ผลิตกล้วยไม้ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเป็นที่น่าพอใจของคู่ค้าและผู้บริโภค ขณะเดียวกันสามารถผลิตกล้วยไม้ที่ตรงตามพันธุ์ มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่กำหนดและปลอดศัตรูพืช โดยผู้ที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาระบบ GAP แล้ว กรมวิชาการเกษตรจะมอบเครื่องหมายสัญลักษณ์ Q ให้
นางชมพูนุท จรรยาเพศ นักสัตววิทยา 8 สำนักวิจัยพัฒนาอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรว่า เนื่องจากสวนกล้วยไม้ส่วนใหญ่มีความชื้นสูง มักพบหอยทากบกเข้าทำลายตาและหน่อดอกหรือใบ ถึงแม้ว่าความเสียหายจะไม่มากนัก แต่ถ้าไม่มีการจัดการใด ๆ ประชากรหอยจะเพิ่มสูงขึ้น จนก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น นอกจากนี้หอยยังปล่อยเมือกไว้เป็นแนวตามทางเดินอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อราซ้ำได้ และประการสำคัญคือการที่หอยปะปนไปกับกล้วยไม้ ที่ส่งต่างประเทศ เป็นสาเหตุให้ถูกเผาทำลาย นอกเหนือจากการต้องสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลแล้วยังทำให้ไทยเสื่อมเสียชื่อเสียง
สำหรับมาตรการการป้องกันการนำต้นไม้เข้าสวนจะต้องแยกไว้ต่างหาก เพราะอาจมีหอยและไข่หอย นอกจากนี้ยังต้องหมั่นตรวจในสวน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบเห็นหอยทากได้ง่าย ถ้าหากเริ่มพบหอยทากตามพื้นดินแสดงว่าภายในปีต่อมาจะเริ่มไต่ขึ้นบนโต๊ะวางกล้วยไม้ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่ต้องระวัง ควรชุบเครื่องปลูกในสารฆ่าหอยหรืออบ หรือตากแห้งก่อนใช้งาน เพื่อกำจัดลูกหอยหรือไข่หอย
วิธีการกำจัดหอยทากชนิดตัวใหญ่ ได้แก่ หอยสาลิกา หอยดักดาน หรือหอยทากยักษ์แอฟริกาให้เก็บออกมาทุบทำลาย หรือใช้เหยื่อพิษสำเร็จรูปเมทัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นเม็ด วางโคนต้นภายหลังให้ น้ำกล้วยไม้ ในวันที่ฝนไม่ตก เพื่อให้เหยื่อพิษมีประสิทธิภาพอยู่ได้นานหลายวัน
หอยชนิดเล็ก ได้แก่ หอยทากซัคซิเนีย หอยเจดีย์ใหญ่ หอยเจดีย์เล็ก และหอยหมายเลขหนึ่ง ระบาดมาก การใช้เหยื่อพิษแบบเม็ดหว่านให้ทั่วทั้งสวน ให้หอยทากเดินมาพบและกินหรือสัมผัสอาจจะได้ผลไม่ดีจึงแนะนำให้ใช้สารฆ่าหอย molluscicide ในรูปผงมาละลายน้ำแล้วพ่นด้วยเครื่องพ่นชนิดใช้แรงดัน หรือเครื่องสูบโยกสะพายหลังที่หัวพ่นมีรูใหญ่ และใช้แรงดันต่ำ เดินพ่นให้ช้ากว่าพ่นสารกำจัดวัชพืช โดยเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้
1.เมทัลดีไฮด์ เป็นผงสีขาวผสมน้ำในอัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
2.นิโคลซาไมด์ เป็นผงสีเหลืองผสมน้ำในอัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
3.เมทิโอคาร์บ เป็นผงสีขาวผสมในน้ำอัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
4.กากเมล็ดชา เป็นผงแช่น้ำไว้ 1 คืน อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
การใช้สารฆ่าหอยพ่นต้องให้ถูกตัวหอยมากที่สุด โดยพ่นในเวลาเช้าซึ่งยังมีความชื้นในอากาศ โดยพ่นน้ำเปล่าให้ทั่วตามพื้นทางเดินก่อนพ่นสารประมาณ 10 นาที เพื่อชักนำให้หอยทาก ออกมาจากที่ซ่อน เพราะขณะที่หอยทากเคลื่อนที่ส่วนกล้ามเนื้อที่ยื่นออกมาจะได้สัมผัสสารเต็มที่ นอกจากนี้ควรพ่นสารตามพื้นทางเดินระหว่างโต๊ะวางกล้วยไม้ เพื่อให้สารฆ่าหอยสัมผัสกับตัวหอยโดยตรง และหากพบหอยไต่ขึ้นอาศัยอยู่ในกาบมะพร้าวบนโต๊ะให้พ่นสารที่โคนต้นและที่กาบมะพร้าว โดยหลีกเลี่ยงส่วนดอกเพราะอาจเปื้อนคราบสาร หรือใช้สารฆ่าหอยแบบเม็ด เหยื่อพิษโรยบนเครื่องปลูกนั้นแทนการพ่น
เห็นได้ว่าหอยทากเป็นศัตรูของกล้วยไม้อีกประเภทหนึ่งที่เกษตรกรจะต้องกำจัดให้สิ้นซาก หากเกษตรกรไม่สนใจดูแลก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกกล้วยไม้ของไทย และจะเป็นผลเสียต่อชื่อเสียงของไทยในอนาคตด้วย ซึ่งเท่าที่ผ่านมาประเทศ คู่ค้ามักพบหอยทากติดไปกับกล้วยไม้ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย และถูกขึ้นบัญชีดำ ทำให้การส่งออกกล้วยไม้ไทยได้รับผลกระทบตามมาอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=175341&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น