ไทย-ญี่ปุ่น ร่วมวางแผนส่งเสริมตลาดผลไม้ไทยปี 51
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 51
ไทย-ญี่ปุ่น ร่วมวางแผนส่งเสริมตลาดผลไม้ไทยปี 51
จากที่สหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี นำมะม่วงมหาชกบินข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศไทย ไปเปิดตัวที่ประเทศญี่ปุ่น ในงานเทศกาลไทย 2007 ณ สวนสาธารณะ โยโยหงิ เขตชิบูยะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเปิดตัวให้ชาวญี่ปุ่นได้รู้จัก จำหน่ายกันในราคาผลละ 600 เยน และ 3 ผล 1,500 เยน และมะม่วงปอกทานกันสด ๆ ถ้วยละ 300 เยน ขายดิบขายดี พร้อมกันนี้ก็มีการนำกล้วยน้ำว้าและกล้วยไข่มาจำหน่ายในงานนี้ด้วย ผลปรากฏว่าชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจและชอบรสชาติเป็นอย่างมาก และในงานดังกล่าวได้เกิดโครงการความร่วมมือระหว่างกันของสหกรณ์การเกษตรในประเทศไทยกับบริษัทผู้ชำนาญด้านการขนส่งและการตลาดในประเทศญี่ปุ่นในหลายด้านโดยเฉพาะด้านการพัฒนาการดูแลรักษา นับตั้งแต่การเก็บเกี่ยวจนถึงการดูแลรักษาและขนส่งสู่ตลาดในญี่ปุ่น
และล่าสุดในความคืบหน้าเพื่อการนี้ นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับแผนส่งเสริมการตลาดผลไม้คุณภาพอย่างเป็นระบบ เมื่อวันที่ 8-10 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา ณ สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้านส่งเสริมการตลาด กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรวบรวมและจำหน่ายผลไม้จากภาคต่าง ๆ รวมถึงผู้แทนของสหกรณ์ที่ได้เดินทางไปเข้ารับการอบรมหลักสูตร Lmprovement of Quality and Safety on Agricultural Product In Thailand ที่ประเทศญี่ปุ่นมาร่วมประชุมกันเพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนส่งเสริมตลาดผลไม้คุณภาพอย่างเป็นระบบต่อไป
ทั้งนี้ การส่งเสริมด้านการตลาดผลไม้ของสหกรณ์ในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมา ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งเป็นที่พึ่งของสมาชิก โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกและจัดหาช่องทางการจำหน่ายผลไม้ โดยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจกับสหกรณ์ต่าง ๆ เช่นห้างสรรพสินค้า และบริษัทผู้ส่งออก โดยในปี 2550 สหกรณ์ในภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญและมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ทั้งด้านการผลิตและการตลาด สหกรณ์สามารถรวบรวมผลผลิตและจำหน่ายได้มากถึง 27,500 ตัน มูลค่ากว่า 380 ล้านบาท โดยจำหน่ายไปยังตลาดคู่ค้าต่าง ๆ แบ่งออกเป็นตลาดจำพวกห้างสรรพสินค้า 31% ตลาดผู้ส่งออกต่างประเทศ 27% ตลาดผู้ค้าภายในประเทศ 32% และตลาดอื่น ๆ อีก 10%
จากการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลไม้ของสหกรณ์ในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มต้องการผลไม้ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น และมีความต้องการในสินค้าประเภทพืชผักผลไม้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขณะเดียวกัน สถาบันเกษตรกรของไทยที่เป็นพื้นฐานของการผลิตยังต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ตลอดถึงการหมุนเวียนภาชนะบรรจุ การขนส่ง และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อความเสียหายของสินค้า เป็นต้น
ซึ่งแน่นอนว่าในปี 2551 นี้สถาบันเกษตรกรน่าจะสามารถวางแผนรองรับผลผลิตและตลาดได้อย่างเป็นระบบเนื่องจากมีประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนกันในการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้อันจะสามารถจัดทำแผนเพื่อการส่งเสริมการผลิตและการตลาดผลไม้คุณภาพของสหกรณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการสินค้าของแต่ละตลาดอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งนั้นก็หมายความว่ารายได้ของขบวนการผลิต การตลาดในพืชเกษตรของไทยภายใต้ขบวนการสหกรณ์จะมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนนั้นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=151760&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น