เมื่อวันที่ 1 กันยายน 51
และถ่ายทอดไปยังชาวสวนเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติจริง ในบรรดาชุดของเทคโนโลยีที่ว่านี้มีทั้งส่วนที่เป็นการควบคุมการออกดอก การตัดแต่งกิ่ง การจัดการดินและปุ๋ย การจัดการโรคและแมลง และประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือเรื่องของการตัดแต่งช่อผล ดังนั้นในวันนี้ผมจึงอยากจะเล่าให้ฟังว่าการตัดแต่งผลลำไยนั้นทำกันอย่างไรและได้ผลดีอะไรบ้าง
ปัญหาของลำไยในบางครั้งไม่ใช่เรื่องของการไม่ติดผล แต่กลายเป็นว่าลำไยติดผลดกเกินไป เพราะฉะนั้นผลที่ตามมาคือผลลำไยมีขนาดเล็กลงมาก และด้อยคุณภาพ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้นก็แน่นอนว่าราคาขายย่อมต่ำมาก เรียกได้ว่ามีปริมาณมากจริงแต่ขายไม่ได้ราคา โครงการนี้จึงได้ศึกษาว่าทำอย่างไรจึงจะให้ได้ผลลำไยมีขนาดโต อยู่ในเกรดที่ตลาดต้องการมาก ซึ่งก็สามารถแสดงให้เห็นว่าทำได้โดยการจัดการสวนที่เหมาะสม และมีการผสมผสานเทคโนโลยีหลายเรื่องเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการดินและปุ๋ย การจัดการโรคและแมลง และที่สำคัญคือการตัดแต่งผลลำไยในช่อทิ้งไปบ้าง โดยมีคำแนะนำว่าให้ตัดช่อลำไยในระยะที่ผลมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่วเหลืองทิ้งไปประมาณครึ่งช่อ เพื่อให้เหลือผลในช่อประมาณ 30-50 ผลเท่านั้น
พอพูดถึงเรื่องการตัดแต่งผลลำไยทิ้งอย่างที่เล่าให้ฟัง ก็เริ่มมีปัญหาว่าชาวสวนไม่กล้าตัดตามคำแนะนำ เพราะกลัวว่าผลผลิตจะลดลง แต่จากการวิจัยของนักวิจัยกลุ่มนี้พยายามชี้ให้เห็นว่าการตัดแต่งผลออกบางส่วนในกรณีที่ติดผลมากเกินไป กลับช่วยทำให้ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อมีคุณภาพดี ไม่แฉะ ผลที่ได้คือรายได้ต่อต้นมากกว่าการปล่อยให้ติดผลดกตามธรรมชาติมากถึง 2-4 เท่าตัว เพราะว่าจากข้อมูลที่ได้คือเมื่อไม่มีการตัดแต่งผลทิ้ง จะได้แต่ลำไยผลเล็ก 100% และคุณภาพไม่ดี ถึงแม้จะได้น้ำหนักผลมากก็ตาม แต่ขายไม่ได้
ในขณะที่ถ้าตัดผลทิ้งให้เหลือในช่อประมาณ 60 ผล ปรากฏว่าน้ำหนักผลผลิตเท่ากัน แต่มากกว่าร้อยละ 80 เป็นลำไยผลใหญ่เกรด AA ขายได้ราคาดีกว่ามาก รวมแล้วรายได้มากกว่าถึง 4 เท่า สรุปแล้วคือเพิ่มแรงงานในการตัดแต่งผลทิ้งบางส่วนในกรณีที่มีการติดผลมากเกินไป บวกกับความใจกล้า พร้อมที่เสี่ยง ผลก็คือได้ลำไยคุณภาพดีขึ้นมาก
ถึงแม้ตอนแรกๆ ชาวสวนจะไม่กล้าทำ แต่เมื่อกลุ่มนักวิจัยทำแปลงสาธิตและอบรมให้เห็นด้วยตาว่าเมื่อมีการทำตามวิธีการที่แนะนำแล้ว ไม่เกิดความเสียหาย ผลก็คือตอนนี้ชาวสวนที่เข้าร่วมโครงการต่างก็เข้าใจและกล้าปฏิบัติตาม แนวคิดนี้เริ่มขยายวงออกไปมากขึ้น ดังนั้นอีกไม่นานเราก็จะมีลำไยคุณภาพดีในปริมาณที่มากพอ และจะส่งผลให้ไม่มีปัญหาเรื่องราคาอีกต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 1 กันยายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/09/01/x_agi_b001_218582.php?news_id=218582