เมื่อวันที่ 2 กันยายน 51
จากความกังวลในหมู่นักปรับปรุงพันธุ์พืชที่ว่าบ้านเรากำลังขาดแคลนนักวิจัยที่เข้าใจกระบวนการ รวมถึงการประยุกต์วิธีปกติร่วมกับวิธีใหม่ๆ เพื่อให้การปรับปรุงพันธุ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เหตุนี้ ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ เมธีวิจัยอาวุโส ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จึงรวมทีมนักวิจัยพัฒนาพืชตระกูลถั่ว โดยเน้นที่ "ถั่วเหลือง สจ.4" เพราะมีอายุสั้น ทั้งมีความสำคัญด้านโภชนาการและเศรษฐกิจของประเทศ
โดยการวิจัยดังกล่าว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนทุนวิจัย ในโครงการส่งเสริมกลุ่มวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชตระกูลถั่ว ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการบริโภคในรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในปริมาณสูง ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางเพิ่มผลผลิต โดยใช้พันธุ์ที่ดีร่วมกับการจัดการที่เหมาะสม
"ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองมักใช้สารกำจัดวัชพืช ซึ่งผลคือทำให้พันธุ์ปกติที่ปลูกกันอยู่ถูกทำลายไปด้วย ดังนั้น การพัฒนาพันธุ์ให้ต้านทานสารกำจัดวัชพืช โรค แมลง จึงเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรในอนาคต ศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวและว่า สำหรับการวิจัยพัฒนาพันธุ์ครั้งนี้ได้ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
จากที่ผู้ปลูกถั่วเหลืองส่วนใหญ่ใช้สาร "กลูโฟซิเนท" ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายวัชพืชฉีดพ่นพืชที่ปลูกด้วยความไม่ระมัดระวัง ทำให้การสังเคราะห์กรดอะมิโนกลูตามีนหยุดชะงักและมีการสะสมของแอมโมเนียเพิ่มขึ้นในเนื้อเยื่อพืช ซึ่งเกิดการยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์แสง ส่งให้ใบพืชแห้งไหม้ และตายในที่สุด
"จึงร่วมกับ รศ.ดร.ทศพล พรพรหม ศึกษาพื้นฐานทางชีวเคมีของความต้านทานสารกลูโฟซิเนทในเซลล์ถั่วเหลือง โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเอนไซม์กลูตามีนซินทีเทส (Glutamine Synthetase หรือ GS) เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเซลล์ถั่วเหลืองที่ต้านทานสารกลูโฟซิเนท" ศ.ดร.พีระศักดิ์ แจง
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เลือกเซลล์ถั่วเหลืองที่ต้านทานสารกลูโฟซิเนท โดยนำเมล็ด ถั่วเหลืองพันธุ์ สจ.4 มาฆ่าเชื้อโรค ก่อนนำไปเลี้ยงในอาหารแข็ง แล้วเลือกต้นที่โต มีอายุ 7 วัน มาเลี้ยงลงในอาหารแข็งที่เติมฮอร์โมน TDZ (Thidiazuron) เพื่อให้เกิดเป็นเซลล์เนื้อเยื่อหรือแคลลัส ก่อนนำไปเลี้ยงในอาหารเหลว เติมฮอร์โมน NAA (Napthalene acetic acid) แล้ววางบนเครื่องเขย่าที่มีความเร็ว 120 รอบต่อนาที เพื่อให้เกิดเป็นเซลล์แขวนลอย
จากนั้นคัดเลือกเซลล์ถั่วเหลืองต้านทานสารกลูโฟซิเนทระดับความเข้มข้น 106 โมลาร์ มาทดสอบการตอบสนองต่อสารในระดับความเข้มข้นต่างๆ พบว่าเซลล์ที่ต้านสารมีการเติบโตลดลงร้อยละ 50 และเมื่อนำไปพิจารณาค่าดัชนีความต้านทานสาร พบว่าเซลล์ดังกล่าวแตกต่างจากเซลล์ถั่วเหลืองปกติ 50 เท่า แสดงว่าเซลล์ฯ ปกติไม่สามารถเติบโตได้เมื่อได้รับสารที่ระดับความเข้มข้น 106 โมลาร์
"เมื่อพิจารณาการศึกษากลไกทางชีวเคมีของเซลล์ถั่วเหลืองที่ต้านสาร พบว่าหลังได้รับสาร 10 วัน เซลล์นั้นมีกิจกรรมของเอนไซม์ GS มากกว่าเซลล์ปกติ 2.18 เท่า แสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่แสดงปฏิกิริยาของเอนไซม์ GS ในสายพันธุ์ถั่วเหลืองต้านสารกลูโฟซิเนท" ศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 2 กันยายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/09/02/x_agi_b001_218846.php?news_id=218846