เมื่อวันที่ 2 กันยายน 51
สิงห์บุรี นอกจาก “ปลาช่อนลำน้ำแม่ลา”จะมีชื่อเสียง ปัจจุบัน “สวายเนื้อขาว” ที่เพาะเลี้ยงจากแหล่งนี้ก็เริ่มได้รับความสนใจในกลุ่มผู้บริโภคเช่นกัน
นางภูริดา ไวโรจนกุล ประมงจังหวัดสิงห์บุรี บอกกับ “หลายชีวิต” ว่า การเลี้ยงปลาโดยเฉพาะ “ช่อน” ในแม่ลาค่อนข้างได้เปรียบ เนื่องจากสภาพดินน้ำที่นี่จะมีความเฉพาะตัว มีผลทำให้ปลาของที่นี่ รสชาติหวาน เนื้อนุ่ม กลิ่นหอม มีไขมันโอเมก้ามากกว่าปลาจากแหล่งอื่นถึงสองเท่า แต่ทว่าต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะขายได้
ดังนั้น เกษตรกรหลายรายจึงเริ่มหันมาเลี้ยง “สวาย” เพราะ เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อโรค อัตรารอดสูง เนื้ออร่อย ไม่มีก้างในเนื้อ เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค แต่หลายแห่งที่เลี้ยงเนื้อปลาจะเหลืองไม่ขาวเหมือนอย่างบ่อของ นางวิไลพร สวาพิม (แจ๋ว) ชาวบ้านเลขที่ 180/3 หมู่ 4 ตำบลอินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
สำหรับ “สวายเนื้อขาว” เป็นปลาน้ำจืดชนิดกินพืช เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ระหว่างปลาบึก กับ ปลาเผาะ กระทั่งได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะ หัวค่อนข้างเล็ก ตาอยู่เสมอหรือสูงกว่ามุมปาก ปากแคบกว่าปลาบึก แนวบริเวณหัวถึงครีบหลังลาดตรง ก้านครีบท้องมี 8-9 เส้น ลำตัวสีน้ำเงินอ่อนค่อนไปทางขาว ด้าน ข้างลำตัวสีจาง ครีบหางมีสีเทาหรือคล้ำอมน้ำตาล รูปร่างป้อมสั้น โตเต็มที่จะมีขนาดตั้งแต่ 50 ซม. ไปจนกระทั่ง 1.5 เมตร ซึ่งที่ผ่านมาในประเทศเวียดนามนิยมเลี้ยงกันมาก เพื่อส่งไปขายยังสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรป
พี่แจ๋ว บอกให้ฟังว่า ภายในพื้นที่ 5 ไร่ จะเลี้ยงปลาหลายชนิดทั้งที่ต้องใช้เวลานาน และจับได้เร็ว อาทิ ปลานิล ทับทิม สลิด ช่อน และ สวายเนื้อขาว โดย ซื้อลูกพันธุ์ขนาดเท่านิ้วชี้ ซึ่งจะมีอัตราการรอดสูง มาจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดชัยนาท ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ มาเลี้ยงเมื่อปี'49
ช่วงแรกจะนำมาปล่อยในกระชัง เลี้ยงด้วยอาหารเม็ด กระทั่งสังเกตเห็นว่า เริ่มกินว่ายน้ำเก่งก็จะปล่อยลงสู่บ่อใหญ่ และเพื่อเป็นการลดต้นทุน จะให้กล้วย มะละกอสุก ที่เก็บจากตลาดนำมาหั่นบางๆให้กิน และยังมีขนมเปี๊ยะที่หมดอายุเอามาให้กิน ซึ่ง โปรตีนจากถั่ว ไข่ น่าจะมีส่วนทำให้เนื้อปลามีสีขาวกลิ่นคาวน้อยลง
“พอมาคิดต้นทุนที่ลงไปทั้งค่าลูกปลา อาหาร แรงงาน เป็นเงินประมาณ 70,000-80,000 บาท ใช้เวลาเลี้ยง 6 เดือน ทำให้กลัวว่าหากจับขายไม่ได้กำไรจะทำอย่างไร จึงเริ่มจับรุ่นแรกขาย แต่เพราะปลามีจำนวนมากเกินไป แม่ค้าจึงกดราคารับซื้อ เห็นว่าเราไม่มีตลาด ทำให้เกิดแรงฮึดสู้ขึ้นมาเห็นว่าเขามือเปล่ายังขายได้ เราก็ต้องทำได้เช่นกัน จึงมานั่งขายเองตามตลาดนัด ทำให้หลายคนเริ่มรู้จักและเข้ามาสั่งปลาจากบ่อไปขาย ตอนนี้จึงสามารถกำหนดราคาได้เอง...”
และแม้ว่าทุกวันนี้ผลผลิตจากบ่อ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่แจ๋วก็ไม่คิดที่จะขยายพื้นที่ เธอบอกว่า อย่าโลภเราควรทำตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำแต่พอดี เพราะหากขยายพื้นที่ออกไปจะทำให้กำลังการดูแลลดน้อยลง ปลาไม่ได้คุณภาพ อัตราเสี่ยงด้านความสูญเสียย่อมตามมา
อุเหม่.. อย่างนี้เองที่สวายเนื้อขาว จึงถูกยกให้ เป็นพระเอกตัวจริงเพราะทำเงินให้เดือนหนึ่งหลายหมื่นบาท
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 2 กันยายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=102690