เมื่อวันที่ 3 กันยายน 51
โรคพีอาร์อาร์เอส PRRS หรือ โรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ ที่เกิดขึ้นใน การปศุสัตว์ ซึ่ง ผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วโลกกลัวกันมาก เพราะหากเกิดเป็นโรคนี้จะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว และยังไม่มีประเทศใดทำให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปลอดจากโรคนี้ได้
ไทยเราเป็นประเทศที่รุดหน้ากว่าใครๆ ทีม นักวิจัยจากฟาร์มกาญจนบุรี ของ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CPF) สามารถทำให้ฟาร์มเลี้ยงสุกรปลอดภัยจากโรคนี้ได้สำเร็จ
นายสมควร ชูวรรธนะปกรณ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด เผยว่า โรค PRRS เกิดจาก ฟาร์มมีกลิ่นฉุนของแอมโมเนีย การบำบัดมูลสุกรและของเสียภายในฟาร์มไม่ดี ทำให้ก่อโรคขึ้น ทางฟาร์มกาญจนบุรี จึงได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการออกแบบให้มีบริเวณจัดเก็บและบำบัดมูลอย่างพอเพียง
“ใช้หลักความเข้าใจถึงอุปนิสัยของสุกร ที่ชอบถ่ายมูลบริเวณเปียกชื้นแล้วจึงมานอนในพื้นที่แห้ง ได้ออกแบบก่อสร้างโรงเรือนให้มีพื้นที่ประมาณร้อยละ 15 เป็นอ่างน้ำ มีความลาดเทลงเรียกว่า ส้วมน้ำ เพื่อให้สุกรลงไปขับถ่าย....จากนั้นในระยะ 1-2 วันจะระบายน้ำพร้อมกับมูลสัตว์ออกจากโรงเรือนไปตามแนวท่อ เพื่อนำไปรวมกับบ่อหมัก ทำให้ไม่มีมูลเหลืออยู่ในระบบการเลี้ยง โรงเรือนจึงสะอาด ปราศจากแอมโมเนีย สุกรที่เลี้ยงไว้ จึงกินอยู่และนอนอย่างสบายทำให้สุขภาพดี
คณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรป หรืออียู ได้เดินทางมาตรวจแล้ว ให้การยอมรับว่า ฟาร์มแห่งนี้ปลอดจากโรค PRRS ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในโลก
สำหรับฟาร์มกาญจนบุรี ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด 306 ไร่ ใช้ระบบการเลี้ยงหมูในการจัดการแบบปิด เป็นฟาร์มระดับ GP มีแม่ พันธุ์จำนวน 3,000 แม่ และพ่อพันธุ์ จำนวน 70 ตัว โดยมีกำลังการผลิตลูกสุกรปีละ 64,000 ตัว แบ่งเป็นสุกรพันธุ์ 13,200 ตัวและผลิตสุกรขุนปีละ 21,000 ตัว
นายสุเมธ เดชรักษา ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บ.กรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) บอกว่า ฟาร์มกาญจนบุรีหลังจากปลอดโรค PRRS แล้วยังได้ดำเนิน โครงการบำบัดน้ำเสียในฟาร์มสุกรด้วยระบบไบโอแก๊ส (Biogas) โดย ระบายมูลสัตว์และน้ำเสียด้วยระบบท่อเข้าสู่....บ่อหมักแบบพลาสติกคลุม หรือ Cover Lagoon ซึ่งมีอยู่ 3 ระบบ คือ ระบบบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ ระบบบ่อซีเมนต์ขนาดเล็กและระบบท่อแคปซูล
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บอกอีกว่า ใน แต่ละระบบมีข้อดีข้อด้อย แตกต่างกันไปแล้วแต่การใช้งานหรือปริมาณพื้นที่กักเก็บ จากนั้นได้นำมูลสัตว์ และน้ำเสีย ผลิตเป็นไบโอ แก๊ส เพื่อนำไปเป็นเชื้อ เพลิง หมุนมอเตอร์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้ภาย ในฟาร์ม ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า 30% คิดเป็นเงินประมาณ 220,000 บาทต่อเดือน และถ้าคำนวณตัวเลขกันในระยะยาว ถือว่า คุ้มค่าต่อการลงทุน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 3 กันยายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=102813