ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพิ่มผลผลิตช่วยลดต้นทุน
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 51
ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพิ่มผลผลิตช่วยลดต้นทุน
กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนามาตรฐานการผลิต บริการวิเคราะห์ รับรองคุณภาพ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ปุ๋ยที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงธาตุอาหารในดิน ตรงตามความต้องการของชนิดพืชที่เกษตรกรปลูก ซึ่งการให้ปุ๋ยที่ถูกต้องนั้น เกษตรกรควร “ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” เพื่อให้เกิดความสมดุลและความเหมาะสมกับสภาพดินของแต่ละพื้นที่ และชนิดของพืชที่ปลูก
จึงขอแนะหลักการและวิธีการใส่ปุ๋ยให้เกษตรกร โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.จะต้องรู้จักดินก่อน นั่นคือ การส่งตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ วิธีการสุ่มเก็บตัวอย่างดิน จะต้องเก็บตัวอย่างดิน 15-20 จุดต่อพื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งหากรู้จักดินแล้วเราก็ต้องเลือกใช้ปุ๋ยเคมีให้เหมาะสมกับดินแต่ละชนิด เช่น ดินเหนียวภาคกลาง มีค่า N และ P ต่ำ แต่มีค่า K สูง ต้องใส่ปุ๋ย NP เช่นสูตร 28-28-0 ส่วนดินในภาคตะวันออกฉียงเหนือเป็นดินทราย มีค่า NPK ต่ำ ใช้ปุ๋ย 2 : 2 : 1 ต้องใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 เป็นต้น
2.ต้องรู้จักชนิดของพืช ว่าพืชนั้นต้องการธาตุอาหารปริมาณเท่าไรใส่ในช่วงไหน พืชจึงจะสามารถดึงธาตุอาหารไปใช้ได้ดีที่สุด
3.ต้องรู้จักปุ๋ย ว่าควรจะใช้ปุ๋ยอะไรดีในการปลูกพืชตาม ที่เราต้องการ
4.รู้จักใช้ เช่น ต้องใส่ปุ๋ยตรงจุดเพื่อพืชจะได้ดูดอาหารได้มากและเร็ว
ขณะเดียวกันการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นการใส่ปุ๋ยเฉพาะพื้นที่ ตรงกับความต้องการปริมาณธาตุอาหารของพืช สามารถช่วยลดต้นทุน และแก้ปัญหาปุ๋ยด้อยคุณภาพ ซึ่งจะต้องให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงสุด
สำหรับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ จะได้ผลมากน้อยขนาดไหน
ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากเศษซากพืชและสิ่งมีชีวิตที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบ ปุ๋ยอินทรีย์มีหลายชนิด ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก เป็นต้น
ปุ๋ยชีวภาพ คือ ปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ที่สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช
ทั้งนี้การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพนั้น เป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตพืชได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ มีราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมี และมีข้อดีหลาย ๆ อย่าง เช่น
ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น โดยเฉพาะคุณสมบัติทางกายภาพของดิน เช่น ความโปร่ง ความร่วนซุย ความสามารถในการอุ้มน้ำและการปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน สามารถอยู่ในดินได้นาน และค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารพืชอย่างช้า ๆ จึงมีโอกาสสูญเสียน้อยกว่าปุ๋ยเคมี เมื่อใส่ร่วมกับปุ๋ยเคมีจะส่งเสริมปุ๋ยเคมีให้เป็นประโยชน์แก่พืชอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะมีธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม อยู่เกือบครบถ้วนตามความต้องการของพืช และช่วยส่งเสริมให้จุลชีพในดินที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงดินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อดีของปุ๋ยชีวภาพ ได้แก่ เป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตในดิน เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ให้อาหารและกระตุ้นให้จุลินทรีย์สร้างอาหารกว่า 93 ชนิดแก่พืช ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติและโครงสร้างดินให้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อพืช ช่วยดูดซับหรือดูดยึดธาตุอาหารไว้ให้แก่พืช ช่วยปรับค่า pH ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช ช่วยกำจัดและต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคต่าง ๆ แก่พืช ทำให้พืชสามารถสร้างพิษได้เอง ซึ่งจะทำให้พืชสามารถต้านทานโรคและแมลงได้ดี
ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกได้ จึงควรให้ความสนใจการศึกษาข้อมูลดินในพื้นที่ของตนเองว่ามีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด รวมถึงพืชที่ปลูกต้องการธาตุอาหารชนิดใดบ้าง เพื่อสามารถวางแผนการใช้ปุ๋ยในแต่ละชนิดได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในเพาะปลูกให้ดีขึ้น รวมถึงประหยัดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 3 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=175599&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น