เมื่อวันที่ 5 กันยายน 51
ณ วันนี้สินค้าประมงจากประเทศไทยจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง อินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตจากฟาร์มในประเทศไทยที่สามารถเพาะเลี้ยงได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก จนได้รับการสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้า ทั้งนี้เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยง กุ้งทะเลภายในระบบมาตรฐานอินทรีย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ด้วยกันและหนึ่งในนั้นก็มีที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี
นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ได้ศึกษาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลตามมาตรฐานอินทรีย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านบวกต่อสิ่งแวดล้อมและระบบความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตกุ้งทะเลแห่งภูมิภาคเอเชีย ฉะนั้นการพัฒนาให้เกิดผลผลิตกุ้งอินทรีย์ขึ้นในประเทศไทยนอกจากประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวมแล้วยังจะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในสินค้ากุ้งของไทยอีกด้วย
การเลี้ยงกุ้งระบบอินทรีย์ นอกจากจะแก้ปัญหายาและสารเคมีตกค้างในพื้นที่การเพาะเลี้ยงแล้ว ยังจะช่วยลดต้นทุนลดการนำเข้าสารเคมีและยา อีกทั้งการเลี้ยงระบบอินทรีย์ยังช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยทำให้สิ่งมีชีวิตในดินและน้ำมีความหลากหลายและเกิดสมดุล ด้วยศักยภาพการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทยที่สามารถส่งออกได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน ในท่ามกลางปัญหาโรคไวรัส ยาตกค้าง กุ้งโตช้า ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำลง ผลผลิตรวมลดลง ราคาตลาดต่ำลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงเป็นการควรแก่เวลาที่ผู้เลี้ยงกุ้งส่วนหนึ่งจะปรับมาดำเนินการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลด้วยระบบอินทรีย์ ทั้งนี้เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงกุ้ง และชื่อเสียงด้านคุณภาพเป็นหนึ่งของกุ้งไทย อีกทั้งเกษตรกรจะมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลหลากหลายวิธี มีฟาร์มที่สามารถปรับเข้าระบบอินทรีย์ได้ไม่น้อย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์กุ้งเลี้ยงโดยระบบอินทรีย์ยังเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องตลอดมา
จากการศึกษาของศูนย์ศึกษาการพัฒนา อ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พบว่าแหล่งที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงกุ้งอินทรีย์ควรอยู่ใกล้ชายทะเล มีการรักษาสภาพป่าชายเลนบริเวณพื้นที่เลี้ยงไว้ให้คงสภาพสมบูรณ์ หรือมีการปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมในบริเวณที่เหมาะสม เพื่อเป็นการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามธรรมชาติ
ด้านอาหารสำหรับการเลี้ยงกุ้งอินทรีย์นั้น ได้ใช้อาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบอินทรีย์ ไม่ใช้วัตถุอาหารที่ได้จากการดัดแปลงทางพันธุกรรม (GMOs) ขณะเดียวกันได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหินฟอสเฟส และโพแทสเซียม ปูนขาว ปูนเผา ปูนมาล และซีไอไลท์ ในการเตรียมบ่อเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติและปรับปรุงคุณภาพดินอีกด้วย
ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ได้นำแนวทางการศึกษาดังกล่าวขยายผลสู่ราษฎรที่เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลด้วยระบบอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการเปิดฝึกอบรมสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับราษฎร ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรได้ตระหนักถึงความสมดุลทางธรรมชาติและใช้ธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=175804&NewsType=1&Template=1