เมื่อวันที่ 5 กันยายน 51
โครงการนิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงาน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นอีกหนึ่งนิคมการเกษตรฯ นำร่องในการผลิตพืชพลังงานของประเทศจากเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการในปีพ.ศ. 2551 ซึ่งมีทั้งหมด 16 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ก็เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงาน รองรับนโยบายข้าว ปาล์มน้ำมัน อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังในรูปแบบนิคมเกษตรกรรม โดยจะมีการเน้นด้านการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อประกอบอาชีพด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบและครบวงจรลักษณะเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมในภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในแทบทุกภาคของประเทศไทยในขณะนี้
ซึ่งเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจะทำงานในรูปแบบเดียวกับสหกรณ์ โดยมีสหกรณ์นิคมแม่สอด จำกัด อำเภอแม่สอดเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมและดูแลสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาด สำหรับเงินทุนในการดำเนินงานนั้น จะนำมาจากเงินรายได้ของนิคมสหกรณ์เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์
ขณะเดียวกัน ทางกรมส่ง เสริมสหกรณ์จะเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือด้านงบประมาณอุดหนุนเพื่อขยายอุปกรณ์ในการผลิต ตลอดถึงการตลาดเพื่อรองรับปริมาณผลผลิตภายในพื้นที่โครงการฯ และร่วมกับภาคเอกชนรับซื้อผลผลิตจากนิคมการเกษตรในรูปแบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครง การว่ามีตลาดรองรับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แน่นอน
ซึ่งล่าสุดทางนิคมสหกรณ์แม่สอด ได้มีการลงนาม เอ็มโอยูกับบริษัทเอกชนแล้วถึง 2 บริษัท อันจะทำให้ใน อนาคตผลผลิตของเกษตรกร จะไม่จำเป็นต้องผ่านระบบพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป และทำให้ผลผลิตของเกษตรกรขายได้ราคาดีขึ้นด้วย
การเปิดนิคมการเกษตรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่จัดตั้งในเขต นิคมสหกรณ์ โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เป้าหมาย 15,000 ไร่ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ เนื่องจากพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากมีความเหมาะสมและมีศักยภาพ ขณะเดียวกัน เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชหลักของพื้นที่อยู่เดิมแล้วซึ่งปัจจุบันจะมีอยู่ประมาณ 90% ของพื้นที่และอยู่ในเขตน้ำฝน มีแหล่งน้ำธรรมชาติจากห้วยขนุน ห้วยแม่กื้ดหลวง และห้วยแม่กื้ดสามเท่า และมีสภาพดินที่เหมาะสมต่อการผลิตมากถึง 71%
ส่วนพันธุ์ข้าวโพดมีคุณภาพเมื่อนำมาปลูกในพื้นที่แห่งนี้ก็สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ย 600 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ ทางนิคมฯ มีเป้าหมายที่จะช่วยให้เกษตรกรมีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 20 และสามารถลดต้นทุนด้านการผลิตให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่โดยในปัจจุบันมีต้นทุนปัจจัยการผลิตต่อไร่อยู่ที่ 3,637 บาท.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=175802&NewsType=1&Template=1