'พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯ' ผู้เลี้ยงกุ้งเชื่อมั่นได้มากกว่าเสีย
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 51
'พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯ' ผู้เลี้ยงกุ้งเชื่อมั่นได้มากกว่าเสีย
ไทย ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพการผลิต และส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะสินค้า “กุ้งและผลิตภัณฑ์” ซึ่งปีที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 82,004 ล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปกุ้งแช่เย็น แช่แข็งและกุ้งปรุงแต่ง มีตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป แคนาดา สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น แต่ไทยยังมีคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดียด้วย
นายภิญโญ เกียรติภิญโญ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งแห่งประเทศไทย เปิดมุมมองต่อ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า นับเป็นเรื่องดีที่กระทรวงเกษตรฯได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรของไทยโดยรวมให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้า และช่วยเพิ่มจุดแข็งให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วย
ในส่วนของกลุ่มสินค้ากุ้ง ตนมองว่าระยะแรกอาจเกิดความยุ่งยากและอาจมีปัญหาติดขัดบ้างในการปรับตัว แต่ระยะยาวเชื่อว่าจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยดึงฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งให้เข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) และมาตรฐาน CoC (Code of Conduct) และยังช่วยพัฒนาโรงงานแปรรูปให้ได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้วัตถุดิบและสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety) และตรงตามความต้องการของตลาดด้วย
“ที่สำคัญยังจะทำให้เกษตรกรมีบทบาทด้านการตลาดอย่างเด่นชัด โดยมีอำนาจการเจรจาต่อรองเข้มแข็งยิ่งขึ้น ขณะที่ระบบตลาดก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมที่ผู้ส่งออกเคยซื้อสินค้าผ่านโรงงานแปรรูป แต่อนาคตผู้ส่งออกจะมีการติดต่อซื้อขายสินค้ากับเกษตรกรโดยตรง แล้วจ้างให้โรงงานแปรรูปผลิตตามออร์เดอร์ ซึ่งจุดนี้เกษตรกรจะได้เปรียบเนื่องจากเป็นผู้กำหนดราคาซื้อขายได้”
อนาคตตลาดกลางที่เป็นแหล่งรวบรวมและซื้อขายสินค้ากุ้งจะถูกลดบทบาทลง เนื่องจากเกษตรกรและผู้ซื้อจะมีการเจรจาติดต่อซื้อขายกันโดยตรง ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการรับจ้างผลิตหรือ Contract Farming อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งและระบบการผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP และมาตรฐาน CoC ทั้งยังต้องเร่งศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯด้วย เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการยกระดับการผลิตสินค้ากุ้งให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยทางอาหาร
นายภิญโญกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง 27,000-30,000 ฟาร์มทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วประมาณ 90% และได้รับมาตรฐาน CoC ประมาณ 10% ซึ่งปี 2551 นี้ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวมกว่า 500,000 ตัน และมีเป้าหมายผลักดันส่งออกสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์นำรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาท
ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้จัดทำ แผนยุทธศาสตร์ในการผลักดันสินค้ากุ้ง (Roadmap of Shrimp) ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2552-2554 โดยช่วงปีแรกได้เตรียมแผนเร่งเน้นพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งที่ดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมุ่งส่งเสริมฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งให้เข้าสู่ระบบ CoC เป้าหมายไม่น้อยกว่า 50 % ของทั้งประเทศ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในการส่งออกกุ้งมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ โทร. 0-2561-2277 ต่อ 1176-9 ในเวลาราชการ หรือ
www.acfs.go.th
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=176054&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น