เมื่อวันที่ 11 กันยายน 51
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน พระราชดำริ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนานกเค้า อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 ให้พิจารณาจัดทำโครงการจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน โดยมุ่งเน้นให้เป็นสถานศึกษาทดลองการเกษตรในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเผยแพร่สู่ราษฎรให้สามารถปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงาน และงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) โดยมีผลการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1. การศึกษา ทดลอง ค้นคว้า ศึกษาค้นคว้าวิธีการที่เหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งในการเกษตรกรรม การประมง การปศุสัตว์ การพัฒนาป่าไม้และการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานในกิจกรรมเหล่านี้ต่อเนื่องตลอดมา โดยในส่วนที่ประสบความสำเร็จ ก็จะมีการขยายผลสู่ราษฎรนำไปใช้ประกอบอาชีพกันต่อไป
กิจกรรมภายในศูนย์ฯ มีอยู่หลากหลายโครงการซึ่งตลอดมาราษฎรได้นำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ หนึ่งในนั้นก็มีการปลูกหวายดงเชิงพาณิชย์บริเวณหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาฯ โดยที่ทางศูนย์ศึกษาฯ ทำการเพาะกล้าหวายดงที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ และเป็นที่นิยมบริโภคของราษฎรในพื้นที่ แจกจ่าย ตลอดถึงฝึกอบรมวิธีการปลูก การดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยว ตามหลักการในการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักวิธีของการปลูกพืชอาหารในสภาพแวดล้อมของพืชธรรมชาติ
หวายดงเดิมที่ขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติแล้วนำมาเพาะขยายพันธุ์ และปลูกเพื่อใช้หน่อเป็นอาหาร จะมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์นางนวล และ พันธุ์น้ำผึ้ง ซึ่งทั้ง 2 พันธุ์ สามารถขึ้นได้ในที่ดอน ทนต่อสภาพแห้งแล้ง มีระบบการจัดการง่ายและไม่ยุ่งยาก สำหรับการปลูกหวายเพื่อการบริโภคจะทำการขยายผลสู่ราษฎรในช่วงต้นฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤษภาคม โดยนำต้นกล้าอายุ 1 ปี ลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้หลุมละ 3 ต้น ระยะห่าง 1.5x1.5 เมตร หรือประมาณ 600 - 800 หลุมต่อไร่ จะทำให้ได้ปริมาณหน่อมาก
ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก จากนั้นต้องคอยดูแลและกำจัดวัชพืชในแปลงอย่างสม่ำเสมอ จะได้ผลผลิตต่อไร่สูง หลังปลูกราว 18 เดือน สามารถตัดหน่อหวายจำหน่ายได้ ราคาหน่อละ 2-7 บาท หรือมัดละ 50-100 บาท ถ้าราษฎรผู้ปลูกดูแลดีก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานกว่า 30 ปีต่อการปลูก 1 รอบ ซึ่งราษฎรจะนำหน่อหวายไปประกอบอาหารหลากหลายเมนู เช่น แกงหวาย ซุปหวาย ผัดหวาย และ หวายต้มจิ้มน้ำพริกเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีรสชาติดี
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกหวายในจังหวัดสกล นครขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง อาทิ มุกดาหาร นครพนม และกาฬสินธุ์ ทำให้มีพ่อค้าหันมาดำเนินธุรกิจค้าหน่อหวายมากขึ้น โดยเข้าไปรับซื้อหน่อหวายจากราษฎรที่ปลูกถึงที่แล้วนำไปส่งต่อให้กับตลาดตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับได้ว่าหวายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน ขณะเดียวกันการปลูกหวายยังเป็นการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ทำให้เกิดสมดุลทางธรรมชาติ และส่งผลให้ราษฎรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมาบริโภคและจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการบริหารและการประสานงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ตลอดมาได้มีหน่วยราชการต่าง ๆ กว่า 40 หน่วยงาน ได้เข้ามาร่วมดำเนินงาน ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และจากส่วนกลาง ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ครบถ้วนและตรงตามวัตถุประสงค์และแนวพระราชดำริที่พระราชทานให้แก่ราษฎรได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนโดยทั่วกัน
หลายสิบปีที่ผ่านมาผลงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ได้ก่อประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง ทดสอบกว่า 100 เรื่อง ที่สามารถเผยแพร่ ขยายผลไปสู่เกษตรกรได้ ทั้ง 4 กลุ่มพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาฯ พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ พื้นที่ศูนย์สาขาทั้ง 3 แห่ง พื้นที่หมู่บ้านอื่น ๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะให้ศูนย์แห่งนี้เป็น “แม่แบบการพัฒนาของภาคอีสาน” นั้นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=176407&NewsType=1&Template=1