เมื่อวันที่ 15 กันยายน 51
เพราะว่าที่ผ่านมาอาจใส่โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและมักจะมีความเชื่อที่อาจไม่ถูกต้อง เช่น ชาวสวนมักจะเชื่อว่าฟอสฟอรัสสูงทำให้ต้นไม้ออกดอกดี ผลก็คือโหมใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสจนมากเกินความจำเป็น และในที่สุดลำไยก็ไม่ได้ออกดอกดีขึ้น แต่เปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์
กลุ่มนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมี ผศ. ยุทธนา เขาสุเมรุ เป็นหัวหน้ากลุ่ม จึงร่วมกันวิจัยเพื่อหาทางจัดการปุ๋ยในลำไยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอิงกับความต้องการของต้นลำไยในแต่ละช่วงของการเติบโต แล้วมีการใส่ปุ๋ยไปตามนั้น วิธีคิดก็คือในแต่ละช่วงลำไยมีการใช้ธาตุอาหารเพื่อการเติบโตทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแตกใบอ่อน การออกดอก จนกระทั่งติดผล และที่สำคัญคือเมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลลำไยออกไปขาย จะเป็นการนำธาตุอาหารติดออกไปกับผลผลิตด้วย ซึ่งแนวคิดก็คือว่าการใส่ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพ อย่างน้อยที่สุดต้องเท่ากับส่วนที่สูญเสียไปกับผลผลิตที่นำออกมาจากต้น และต้องคิดต่อไปว่าในช่วงที่ลำไยออกใบอ่อน ต้องใช้ธาตุอาหารอะไรในปริมาณมากน้อยเพียงใด ในช่วงออกดอกเช่นกัน แล้วจึงคำนวณกลับมาว่าควรใช้ปุ๋ยอะไรในแต่ละช่วงและใช้ในปริมาณเท่าใด โดยให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ซึ่งข้อมูลปริมาณธาตุอาหารที่ติดไปกับผลลำไยเมื่อเก็บเกี่ยว และปริมาณธาตุอาหารในใบช่วงที่มีการแตกใบอ่อน และออกดอก ก็มีการวิเคราะห์ไว้เรียบร้อยแล้ว ในที่สุดก็เอามาทำเป็นตารางการใช้ปุ๋ยอย่างง่ายขึ้น และมาแนะนำชาวสวน โดยมองเรื่องของผลผลิตต่อต้นเป็นหลักก่อน หากมีการเก็บเกี่ยวออกไปมาก ก็ต้องมีการใส่ปุ๋ยมาก
ยกตัวอย่างคือมีการวิเคราะห์ผลลำไยพบว่าถ้าเก็บเกี่ยวได้ต้นละ 100 กิโลกรัม ปรากฏว่าจะสูญเสียไนโตรเจนไป 371 กรัม ฟอสฟอรัส 42 กรัม และโพแทสเซียม 373 กรัม ถ้าคิดเป็นสัดส่วนก็คือ 9:1:9 หมายความว่าถ้าจะใส่ปุ๋ยลำไย ก็ควรใช้ไนโตรเจนและโพแทสเซียมในปริมาณพอๆ กัน และมากกว่าฟอสฟอรัส ซึ่งโครงการนี้ก็ได้ทำคำแนะนำออกมาว่าหากเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมา 100 กิโลกรัม จะต้องใส่ปุ๋ยยูเรียหรือ 46-0-0 0 ปริมาณ 900 กรัมต่อต้น ใช้ 15-15-15 อีก 960 กรัม และ 0-0-60 อีก 880 กรัมต่อต้น
หมายความว่าจากเดิมที่ชาวสวนเคยชินกับการใช้ 15-15-15 อย่างเดียว ก็กลายเป็นว่าปุ๋ยสูตรดังกล่าวให้เนื้อปุ๋ยทั้ง 3 อย่างในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งต้นลำไยไม่ได้ต้องการตัวกลางหรือฟอสฟอรัสมากขนาดนั้น ด้วยวิธีการคิดอย่างนี้ทำให้การใส่ปุ๋ยเริ่มมีหลักเกณฑ์และสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากจะให้ละเอียดลงไปอีก ก็ต้องวิเคราะห์ดินด้วยว่ามีธาตุอาหารอะไรอยู่บ้าง และควรปรับแต่งอย่างไร จึงจะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณเหมาะสมที่สุด และแน่นอนว่าผลที่ตามมาคือชาวสวนขายลำไยได้ง่ายขึ้นเพราะได้เกรดดีขึ้น และต้นทุนลดลงเนื่องจากการใช้ปุ๋ยมีความถูกต้องมากขึ้นครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 15 กันยายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/09/15/x_agi_b001_220863.php?news_id=220863