82 ปี 'กรมประมง' ก้าวสู่ผู้นำด้านประมงแห่งเอเชีย
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 51
82 ปี 'กรมประมง' ก้าวสู่ผู้นำด้านประมงแห่งเอเชีย
21กันยายน 2551 เป็นวันสถาปนา “กรมประมง” ครบรอบปีที่ 82 ซึ่งกรมประมงได้ปรับยุทธศาสตร์และกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ให้เชื่อมโยงกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “มุ่งสู่การเป็นผู้นำทางการประมงอย่างยั่งยืนในภูมิภาค เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน” โดย มุ่งพัฒนาการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประมงไปสู่เกษตรกรและชาวประมงทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่เกษตรกร ทั้งยังมุ่งพัฒนาคุณภาพการผลิตสินค้าสัตว์น้ำของไทยให้ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัยและมีความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านการประมงของภูมิภาคเอเชีย
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปี 2552 นี้ กรมประมงได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 83 ซึ่งกรมฯ ได้กำหนดแผนขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการประมงของไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงทั่วประเทศให้ดีขึ้นด้วยโดยใช้ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพสินค้าประมงให้มีความเป็นเลิศและได้มาตรฐานตามเกณฑ์สากล 2.ยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้แหล่งเพาะเลี้ยงและทุกแหล่งทรัพยากรและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน และคงความหลากหลาย 4.ยุทธศาสตร์ การพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการประมงทุกสาขา และ 5.ยุทธศาสตร์การปรับปรุงระบบบริหารจัดการองค์กรให้เป็นผู้นำทางการประมงในภูมิภาค
ในเบื้องต้น กรมประมงมีแผนเร่งดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกรมฯ จะส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง และสงขลา รวมกว่า 5,300 ราย พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ จำนวน 400 ราย และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำในโรงเรียนปอเนาะ 2 แห่งด้วย โดยเน้นให้มีการสร้างเครือข่ายการพัฒนาอาชีพ และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต
กรมประมงมีแผนเร่งพัฒนาระบบการผลิตสินค้าสัตว์น้ำให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ อาทิ สินค้ากุ้ง ปลาเศรษฐกิจ ปลาสวยงาม และพันธุ์ไม้น้ำ รวมทั้งยังจะเร่งจัดทำระบบการจัดการคอมพาร์ตเมนต์ (Compartment) ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อให้เป็นฟาร์มปลอดโรค พร้อมตรวจรับรองคุณภาพสินค้าประมงเพื่อส่งออกและพัฒนาศักยภาพสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงอีก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเทียบเรือประมงระนอง ท่าเทียบเรือประมงสตูล และท่าเทียบเรือประมงสุราษฎร์ธานี
นอกจากนี้ กรมประมงยังมีแผนสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยกว่า 160 เรื่อง พร้อมส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยไปใช้ในการเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าหรือเพิ่มคุณค่าให้แก่สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ทั้งยังจะเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปสู่เกษตรกร โดยกรมประมงจัดทำโครงการเสริมสร้างการจัด การประมงต้นแบบ เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง พร้อมสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เข้าสู่อาชีพประมง โดยเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรเพื่อให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคาดว่าระบบการผลิตสินค้าประมงของไทยจะได้รับการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก โดยเฉพาะคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยทางด้านอาหาร ซึ่งจะเป็นจุดแข็งที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน อันจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น ปีละไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านการประมงของภูมิภาคเอเชียได้รวดเร็วขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=176840&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น