เมื่อวันที่ 16 กันยายน 51
ด้วยเป็นคนอีสาน เมื่อถึงฤดูกาลผลิตปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะแรงงานตัดอ้อย จนทำให้เจ้าของไร่แก้ด้วยการจ่ายเงินค่าจ้างข้ามปีให้ก่อน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวเขาเหล่านี้ก็จะไปทำงานใช้หนี้
บางรายงานล่าช้ายิ่งทำให้เจ้าของไร่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เหตุนี้ทำให้ "ทนงศักดิ์ มูลตรี" จากคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คิดค้นเครื่องมือทุ่นแรงให้ชาวไร่ โดยดัดแปลงรถไถนาเป็น "รถตัดอ้อยเดินตาม" จนได้รับสิทธิบัตรเมื่อปีที่แล้ว
อ.ทนงศักดิ์ เล่าว่า ปี 2548 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยนำรถไถนาเดินตามซึ่งมีขนาด 9-14 แรงม้า มาประยุกต์ เพราะมองว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีอยู่แล้ว ติดตั้งใบเลื่อยวงเดือนที่ใช้สำหรับตัดลำต้นอ้อย และติดตั้งระบบอุปกรณ์ต่างๆ จากนั้นก็นำเอารถที่ประยุกต์ขึ้นไปทดลองในแปลงอ้อย
"เบื้องต้นพบว่ารถตัดอ้อยแบบรถไถนาเดินตาม เดินเครื่องตัดอ้อยได้นานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่มีปัญหา และสามารถตัดอ้อยได้ 50 ตันต่อวัน ในระดับความหนาแน่นของอ้อยที่ 12 ตันต่อไร่ ซึ่งหลังมีการทดลองประสิทธิภาพการใช้งานของรถตัดอ้อยแล้วก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ"
ปี 2549 อ.ทนงศักดิ์ ได้นำสิ่งประดิษฐ์นี้ไปแสดงในงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่กรุงเทพฯ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เห็นว่าน่าจะใช้ประโยชน์ได้จริง จึงให้ทุนสนับสนุนวิจัยต่อยอดผลงาน เป็นจำนวนเงิน 9 แสนบาท
จากนั้นจึงเริ่มทดลองโดยนำรถไถนาเดินตามขนาดเล็ก ใหญ่ และแบบนั่งจำนวน 4 เครื่อง 4 ขนาด โดยใช้ระบบไฮดรอลิกส์เข้ามาช่วยเพื่อให้การปฏิบัติงานสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้กระบวนการทำงานของรถจะใช้มอเตอร์ไฮดรอลิกส์เป็นตัวตัดต้น กำลังขับใบมีดปรับระดับได้ตามความสูงต่ำของต้นอ้อย อีกทั้งยังปรับระดับการเอียงของใบมีดเพื่อให้กำหนดทิศทางการล้มของต้นอ้อยได้
"รถตัดอ้อยแบบรถไถนาเดินตามจะตัดอ้อยเฉลี่ย 50 ตันต่อ8 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับแรงงาน 1 คนจะตัดได้ประมาณ 1 ตันต่อ 8 ชั่วโมง ซึ่งวันหนึ่งลดใช้แรงงานได้ถึง 50 คน ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 0.88 ลิตรต่อชั่วโมง ความเร็วการเคลื่อนที่ของรถ 2.43 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่เหมาะสมของการตัดอ้อย"
ทั้งนี้ หากเป็นรถไถนาเดินตามขนาดใหญ่และแบบนั่ง ซึ่งมีขนาดแรงม้า 50 แรงม้าขึ้นไป จะใช้ใบเลื่อยวงเดือนและติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม คือสางใบซึ่งลดการปนเปื้อนที่ติดมากับปลายลำอ้อย ปกติหากเกษตรกรไม่สางใบอ้อยก็จะถูกโรงงานหักค่าปนเปื้อนราวตันละ 20 บาท
"ขณะนี้ได้พัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยภาควิชาฯ จะมีหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลทางอุตสาหกรรมเกษตร และเช่นกันหากเกษตรกรรายใดมีรถไถนาเดินตามขนาดเล็ก ก็นำมาให้หน่วยติดตั้งได้ ราคาติดตั้งจะอยู่ที่ 6 หมื่นบาท แต่รายใดที่ยังไม่มีรถจะอยู่ที่ 1 แสนบาท ส่วนที่เป็นรถตัดอ้อยแบบเดินตามขนาดใหญ่หรือแบบนั่งจะอยู่ที่ 3.5 แสนบาท" อ.ทนงศักดิ์แจงและว่า หากเปรียบเทียบกับที่นำเข้าจากต่างประเทศพบว่าของไทยถูกกว่าหลายเท่าตัว เพราะราคาสูงถึง 15 ล้านบาท ขณะที่ประสิทธิภาพก็ใกล้เคียงไม่แพ้กัน
ด้วยความสามารถด้านการออกแบบประดิษฐ์เครื่องจักรกลทางการเกษตรของ อ.ทนงศักดิ์ ทำให้ผลงานประดิษฐ์ชิ้นดังกล่าวได้รับการคุ้มครองจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้รับสิทธิบัตรเลขที่ 22959 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 16 กันยายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/09/16/x_agi_b001_221154.php?news_id=221154