เพาะเลี้ยงหอยขมแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่สกลนคร
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 51
เพาะเลี้ยงหอยขมแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่สกลนคร
นายพิษณุ เภาโพธิ์ เกษตรกรตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร เกษตรกร ขยายผลในการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ได้เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยมีที่ดิน 13 ไร่
เป็นหนึ่งของเกษตรกรหลายรายที่นำเอาแม่แบบในการทำการเกษตรแบบผสมผสานและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ในการดำรงชีพ ในพื้นที่จะมีการจัดแบ่งเพื่อการใช้งานอย่างลงตัว มีแปลงพืชยืนต้น มีสวนผัก และมีนาข้าวพร้อมสระน้ำเพื่อการเก็บกักไว้ใช้งาน
ในส่วนของสระน้ำนั้นนอกจากจะมีการนำพันธุ์ปลาหลายชนิดมาเลี้ยงไว้ในที่เดียวกันแล้ว เกษตรกรรายนี้ยังได้นำหอยขมมาปล่อยไว้ด้วย โดยปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็นำเอาทางมะพร้าวที่ถูกตัดแต่งเพื่อการเจริญเติบโตมาวางจมไว้ในสระ โผล่ส่วนของทางมะพร้าวไว้ริมตลิ่ง เพื่อสะดวกในการเก็บหอยขมขึ้นมาบริโภค
เกษตรกรรายนี้เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เวลาต้องการกินหอยขมก็ต้องออกไปยังตลาดเพื่อซื้อมา วันหนึ่งคิดขึ้นมาได้ว่า หอยขมนั้นชอบอยู่ในดินเลนแบบดินทุ่งนาในที่ที่เป็นน้ำนิ่ง ซึ่งสระน้ำในพื้นที่ก็มีคุณลักษณะเดียวกัน จึงไปหาซื้อหอยขมมาจำนวนหนึ่งแล้วปล่อยลงไปในสระน้ำพร้อมนำทางมะพร้าวมาวางเป็นจุด ๆ รอบ ๆ สระเพื่อให้หอยได้เกาะ เมื่อต้องการเก็บขึ้นมาทำกินก็เพียงไปยกเอาทางมะพร้าวขึ้นมาเหนือน้ำก็สามารถเก็บหอยขมตามที่ต้องการได้ ซึ่งการเก็บก็จะเลือกเฉพาะหอยที่มีขนาดโตเท่านั้น ตัวเล็ก ๆ ปล่อยคืนลงไปเพื่อให้เจริญเติบโตขึ้นมา
ปรากฏว่านับตั้งแต่ปล่อยหอยขมลงไปเพียงครั้งเดียวก็สามารถเก็บขึ้นมาได้ตลอดเวลาเนื่องจากหอยมีการขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ ปัจจุบันในหนึ่งอาทิตย์ก็มีรายได้จากการเก็บหอยขมขายได้อีกทางหนึ่งด้วย นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
สำหรับหอยขมนั้นเป็นหอยฝาเดียวอาศัยในน้ำจืดมีขนาดเล็ก เปลือกเป็นเกลียวกลมยอดแหลม หนาและแข็ง ผิวชั้นนอกเป็นสีเขียวแก่ ฝาปิดเปลือกเป็นแผ่นกลม ตีนใหญ่ จะงอยปากสั้นทู่ ตามีสีดำอยู่ตรงกลางระหว่างโคนหนวด ตัวผู้มีหนวดเส้นข้างขวาพองโตกว่าเส้นข้างซ้าย ลักษณะพิเศษของหอยชนิดนี้ จะมีอวัยวะเพศทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน ออกลูกเป็นตัว และผสมพันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเองเมื่ออายุได้ 60 วัน หอยขมออกลูกเป็นตัวครั้งละประมาณ 40-50 ตัว ลูกหอยขมที่ออกมาใหม่ ๆ มีวุ้นหุ้มอยู่ แม่หอยขมจะใช้หนวดแทงวุ้นจนแตก เพื่อให้ลูกหอยหลุดออกจากวุ้น ลูกหอยขมสามารถเคลื่อนไหวได้ทันทีเมื่อออกจากตัวแม่ จะพบเห็นชุกชุมอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม
หอยขมชอบอาศัยในแหล่งน้ำจืด เช่นในคู คลอง หนอง บึง ที่น้ำไม่ไหลแรงและเป็นน้ำนิ่ง ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร มักเกาะอยู่กับพันธุ์ไม้น้ำ เสาหลัก ตอไม้ หรือตามพื้น กินอาหารพวกสาหร่าย และอินทรีย์สาร ใบไม้ใบหญ้าผุ ๆ ในน้ำ รวมทั้งซากอินทรีย์ที่เน่าเปื่อยและผงตะกอนที่จมอยู่ตามผิวดิน
หอยขมเป็นสัตว์น้ำที่ให้คุณค่าทางอาหาร มีโปรตีน 12 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 4 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 2 เปอร์เซ็นต์ และความชื้น 78 เปอร์เซ็นต์ จึงเหมาะสำหรับนำมาประกอบอาหารแต่ก่อนรับประทานควรทำให้หอยขมสุกเต็มที่ เนื่องจากหอยขมมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ในลำไส้ เมื่อเข้าสู่คนแล้วสามารถเจริญเติบโตในคนได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Columnid=51601&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น