เมื่อวันที่ 18 กันยายน 51
นายสุรไกร สังฆสุบรรณ์ ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ภายหลัง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ โดยพันธุ์ที่ได้รับการพิจารณารับรองพันธุ์ ซึ่งให้ผลผลิตไม่เกิน 2 ปี เช่น ข้าว ข้าวโพด จะมีระยะเวลาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ 12 ปี พืชที่ให้ผลผลิตเกินกว่า 2 ปี อย่างมะม่วง มะละกอ ส้มโอ มีระยะเวลาคุ้มครอง 17 ปี และพืชที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ คุ้มครอง 27 ปีนั้น
“ขณะนี้มีผู้ให้ความสนใจยื่นจด ทะเบียนพืชใหม่จำนวน 404 พันธุ์ ได้รับการพิจารณารับรองไปแล้ว 33 พันธุ์ ซึ่งในจำนวนนี้มีกล้วยไม้สกุลหวาย 19 พันธุ์ ข้าว 2 พันธุ์ ข้าวโพด 4 พันธุ์ อ้อย 4 พันธุ์ มะระ 4 พันธุ์ และยังมีที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคำขอรับรอง 190 พันธุ์ การปลูกตรวจสอบ 153 พันธุ์ การโฆษณา 11 พันธุ์ เตรียมรายงานผล 8 พันธุ์ และยกเลิกคำขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ 9 พันธุ์” ผอ.กอง คุ้มครองพันธุ์พืชกล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ฐานข้อมูลเชื้อพันธุ์พืชมีรูปแบบมาตรฐาน เป็นศูนย์กลางที่สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว ล่าสุด ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศ พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลฯ ซึ่งประกอบด้วยข้าว มะม่วง ทุเรียน ยางพารา อ้อย ถั่วเขียว กล้วยไม้สกุลหวาย ลำไย ลิ้นจี่ หยก กวางตุ้ง โป๊ยเซียน ถั่วเหลือง ข้าวโพด มะระ ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเทศ พริก แตงโม คะน้า ส้มโอ มันสำปะหลัง ปทุมมา มะละกอ ส้มเขียวหวาน น้อยหน่า หน้าวัว บัวอุบลชาติ และบัวปทุมชาติ โดยผู้ที่สนใจสืบค้นข้อมูลสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2561-2625 ในวันและเวลาราชการ.ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 18 กันยายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=104534