เมื่อวันที่ 19 กันยายน 51
สถานการณ์เรื่องน้ำมันเป็นที่ยอมรับกันว่ากระทบทุกส่วนของสังคม โดยเฉพาะสังคมการเกษตรมีความจำเป็นต้องใช้อย่างมากในทุกวันนี้ เนื่องจากแรงงานธรรมชาติ ไม่ว่าสัตว์หรือคนมีปริมาณไม่เพียงพอกับพื้นที่การเกษตร และความต้องการในปริมาณผลผลิตของสังคม การคิดค้น และความสำเร็จในเรื่องของพลังงานทดแทนจึงเกิดขึ้นและมีให้ได้รับ ทราบความก้าวหน้ากันมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) จังหวัดสงขลา กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรและโรงงานต้นแบบสำหรับการผลิตไบโอดีเซล แบบแบทซ์ โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะได้เมทิลเอสเทอร์หรือไบโอดีเซลออกมาถึง 98% โดยปริมาตร และให้ความบริสุทธิ์ 99-100% โดยน้ำหนักรวมทั้งยังมีคุณภาพสม่ำเสมอ ผ่านข้อกำหนดคุณลักษณะและคุณภาพตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงานอีกด้วย
สำหรับการใช้ประโยชน์นั้น ได้ทดลองนำน้ำมันไบโอดีเซล B100 (น้ำมันไบโอดีเซล 100%) ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์สูบเดียวไม่ว่าจะเป็นเครื่องรถไถ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องเรือหางยาวขนาดเล็ก แล้วปรากฏว่าใช้ได้ดีไม่มีปัญหาใด ๆ ส่วนการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์นั้นได้ทดลองนำน้ำมันไบโอดีเซล B50 (น้ำมันไบโอดีเซลผสมกับน้ำมันดีเซลอัตราส่วน 50:50) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์กระบะปรากฏว่าใช้ได้ดีไม่มีปัญหาใด ๆ เช่นกัน
ส่วนราคาของเครื่องจักรและโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตไบโอดีเซลดังกล่าวนั้น หากเป็นแบบถังสเตนเลส มีราคาเครื่องละ 500,000 บาท แต่ถ้าเป็นถังพลาสติกราคาเครื่องละ 300,000 บาท สามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ได้วันละ 300 ลิตร มีต้นทุนการผลิตลิตรละ 27 บาท มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลทั่วไปถึงลิตรละ 15 บาท นอกจากนี้ยังสามารถผลิตจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วได้อีกด้วย ซึ่งจะสามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ได้ถึง 600 ลิตรต่อวัน ต้นทุนการผลิตเพียงลิตรละ 22 บาท (น้ำมันพืชที่ใช้แล้วราคาลิตรละ 15 บาท)
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กล่าวด้วยว่า สวพ.8 ยังได้ขยายผลงานวิจัยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยขณะนี้ได้สร้างเครื่องผลิตไบโอดีเซลให้กลุ่มเกษตรกรภายในนิคมสหกรณ์ จังหวัดกระบี่ และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำมันไบโอดีเซลแล้ว รวมทั้งยังได้รับการติดต่อจากอู่รถยนต์ในจังหวัดราชบุรีสนใจที่จะสร้างเครื่องผลิตไบโอดีเซลดังกล่าวอีกด้วย
นอกจากนี้ สวพ.8 เตรียมของบประมาณจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องต้นแบบการผลิตไบโอดีเซล ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถผลิตไบโอดีเซล (B100) ได้ประมาณ 1,000 ลิตรต่อชั่วโมง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลงและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=177184&NewsType=1&Template=1