เลี้ยง 'โคพื้นเมือง' แก้วิกฤติพลังงาน-เพิ่มรายได้เกษตรกร
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 51
เลี้ยง 'โคพื้นเมือง' แก้วิกฤติพลังงาน-เพิ่มรายได้เกษตรกร
"ข้าพเจ้าเป็นทุกข์แทนชาวนาไทย ซึ่งก็ยังยากจน เพราะว่านอกจากน้ำมันแพงแล้ว ปุ๋ยก็ยังแพงมากอีกด้วย ข้าวของทุกอย่างพากันขึ้นตามราคาน้ำมันไปหมด อันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เวลาท่านทอดพระเนตรเห็น อย่างไปทรงเยี่ยมตามจังหวัดต่าง ๆ เห็นประชาชนเลิกใช้ควายไถนา มาใช้รถ นัยว่าสมัยใหม่กว่า ใช้รถไถนา ควายก็กลายเป็นไม่มีค่าอะไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งบอก นี่ ต่อไปถ้าน้ำมันแพงขึ้น ๆ นี่ ชาวนาเหล่านี้จะทำยังไง ได้ทิ้งควายไปแล้ว เพราะควายตัวนี้ก็ต้องมาฝึก ฝึกกันใหญ่ เข้าโรงเรียนฝึกหัดไถนา (ทรงพระสรวล) เพราะถูกทอดทิ้งไปตั้งหลายปี จะไถนาไม่เป็นตอนนี้ สู้น้ำมันไม่ไหว แล้วน้ำมัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง ก็ไม่มีวันที่จะลงหรอก” พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551
จากพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ข้างต้นนี้ ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินโครงการหลายโครงการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสานต่อโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อ เกษตรกรตามพระราชดำริ (ธคก.) หรือโครงการการเลี้ยงโคพื้นเมืองช่วยลดการใช้น้ำมัน ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ภายใต้การผลิตตามระบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรสามารถผ่านพ้นวิกฤติน้ำมันแพงไปได้
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สมัยโบราณเกษตรกรไทยทำการเกษตรโดยอาศัยแรงงานจากโคในไร่นา หรือใช้เพื่อเทียมเกวียน เป็นพาหนะขนผลผลิตต่าง ๆ และในปัจจุบันวิถีชีวิตดั้งเดิมเหล่านั้น กำลังจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง เพื่อลดการใช้พลังงานต่าง ๆ เช่น น้ำมัน และเครื่องจักรกล ตลอดจนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
“โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ของเกษตรกรเครือข่าย อ.เวียงสา จ.น่าน และเกษตรกรเครือข่าย อ.สอง จ.น่าน โดยเกษตรกรได้เลี้ยงโคพื้นเมือง และลูกผสมพื้นเมืองฟาร์มละ 4 ตัว ผสมผสานกับการปลูกพืช เช่น ปลูกข้าวโพด ทำนา สวนผลไม้ โดยใช้สิ่งเหลือใช้จากการปลูกพืช และหญ้าสดจากทุ่งหญ้าธรรมชาติ เป็นอาหารของโคพื้นเมือง ตลอดจนใช้มูลโคเป็นปุ๋ยชีวภาพ บำรุงดินตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ด้าน นายประทีป อินแสง เกษตรกรเครือข่ายโคพื้นเมือง อ.เวียงสา จ.น่าน เล่าให้ฟังว่า เคยรับราชการครูสังกัดกรมสามัญฯ แต่ได้ลาออกมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยยึดหลักเศรษกิจพอเพียง ทำนา 5 ไร่ และทำการเกษตรอื่น ๆ อีก 5 ไร่เลี้ยงโคพื้นเมือง และโคลูกผสมพื้นเมือง 4 ตัว ใช้เป็นแรงงาน 2 ตัว และสามารถขายลูกโคได้ปีละ 2 ตัว ราคาตัวละ 4,500 บาท นอกจากนี้ ยังใช้แรงงานโคในการทำนาและการขนส่งต่าง ๆ ทุกเดือน ทำให้สามารถลดต้นทุนในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ปีละ 6,533 บาท
ขณะที่ นายประชัน ศรีปัญญา เกษตรกรเครือข่ายโคพื้นเมือง ต.ห้วยหม้าย อ.สอง จ.แพร่ บอกว่า ได้เลี้ยงโคพื้นเมืองและโคลูกผสมพื้นเมือง 4 ตัว โดยใช้เป็นแรงงานในการทำนา 2 ตัว และใช้ปุ๋ยจากมูลโคในการเกษตรอื่น ๆ อีกทั้งยังสามารถขายลูกโคได้ปีละ 2 ตัว ราคาตัวละ 12,250 บาท นอกจากนี้ ยังใช้แรงงานโคในการขนส่งต่าง ๆ ทุกเดือน ช่วยประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปีละ 6,047 บาท
นับว่า การเลี้ยงโคพื้นเมือง เป็นอีกทางเลือกและทางรอดอีกทางหนึ่งของเกษตรกรไทยในยุคน้ำมันแพงเช่นนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=177439&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น