เมื่อวันที่ 23 กันยายน 51
ผลพวงอันเนื่องจากทำปศุสัตว์ทั้งมูลและน้ำเสีย เป็นต้นเหตุก่อให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็น พาหะนำโรค ซ้ำเป็นโจทย์ใหญ่ที่สร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ เพราะหากสิ่งปฏิกูลเหล่านี้
ไม่มีการบริหารจัดการที่ดีจะก่อปัญหาต่อชุมชนรอบข้าง ทางกลับกัน หากนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas digester) นอกจากช่วยลดมลภาวะแล้ว เกษตรกรยังนำก๊าซที่ผลิตได้ไปใช้เป็นพลังงานหุงต้ม ให้แสงสว่าง และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์
ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (จ.น่าน) ผนึกกำลังอบรมและสาธิตการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์และน้ำเสียในการเลี้ยงสุกรให้แก่เกษตรกร จ.พัทลุง เพื่อให้รู้จักเทคนิค วิธีการอันเป็นประโยชน์ในการสร้างพลังงานทดแทนที่ใช้ในครัวเรือน
กำชัย ตันติกาพงศ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง หัวหน้าโครงการบอกถึงเหตุผลที่เลือกพัทลุงเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นเมืองเกษตร ทั้งกสิกรรม ปศุสัตว์ และมีการเลี้ยงสุกรมากที่สุดในเขตปศุสัตว์เขต 9 (พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง)
ทั้งนี้ ในการนำมูลสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพที่ผ่านมา เกษตรกรจะติดขัดเรื่องรูปแบบและต้นทุนการสร้างบ่อที่มีราคาสูง ดังนั้นกลุ่มนักวิชาการเหนือ-ใต้กลุ่มนี้ จึงคิดค้นวิธีทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพซึ่งเหมาะต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อย ที่ขนาดบ่อ 7-8 ลูกบาศก์เมตร ใช้เงินลงทุนบ่อละ 3,000 บาท ผลิตก๊าซใช้หุงต้มในครัวเรือนได้วันละ 5-7 ชั่วโมง หรือเท่ากับประหยัดค่าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ได้เดือนละ 5 ถัง หรือเท่ากับ 1,350 บาทต่อเดือน
ไม่เพียงเท่านี้ ก๊าซนี้ยังนำไปจุดตะเกียงเจ้าพายุ ซึ่งเดิมใช้น้ำมันก๊าด ทำให้เกิดแสงสว่างตามบริเวณรั้ว หรือฟาร์ม เท่ากับประหยัดค่าไฟฟ้าจากการเปิดหลอดไฟได้ 2-4 ดวง ขนาดดวงละ 20-40 วัตต์
"ประโยชน์ของบ่อก๊าซชีวภาพขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร สามารถให้พลังงานเทียบเท่ากับ ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 0.46 กิโลกรัม น้ำมันเบนซิน 0.67 ลิตร น้ำมันเตา 0.55 ลิตร พลังงานไฟฟ้า 1.2-1.4 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง" อาจารย์กำชัยระบุ
นอกจากนี้ยังลดปัญหาคุณภาพน้ำทิ้ง น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว สามารถควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดได้ ลดปัญหามลภาวะจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลิ่น แมลงวัน ช่วยให้ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ร่วมกับการดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนใกล้เคียงได้
"ขณะนี้มีชาวบ้านนำรูปแบบดังกล่าวไปใช้แล้วหลายครัวเรือน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มพลังงานทางเลือกให้แก่ครัวเรือน ทั่วทั้งชุมชน ซึ่งพัทลุงกำลังจะกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพึ่งพาตนเองได้ชัดเจนที่สุดในยุคเชื้อเพลิงมีราคาสูง" อาจารย์กำชัยกล่าว
ลิขิต วรศรี ชาวบ้าน หมู่ 5 ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ที่นำก๊าซชีวภาพไปทดลองทำใช้ที่บ้านโดยนำก๊าซมาใช้หุงต้มในครัวเรือน และทำน้ำอุ่น กล่าวว่า นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวยามภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองได้แล้ว ยังทำให้รู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้จากการปศุสัตว์ รวมทั้งช่วยลดมลภาวะและปัญหาที่แก้ไม่ตกอีกมากมาย
ส่วนเกษตรกรผู้สนใจจะผลิตก๊าซใช้เองในครัวเรือน สอบถามรายละเอียดได้ที่ อ.กำชัย โทร.0-7469-3996 หรือ 0-7460-9600 ต่อ 7202
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 23 กันยายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/09/23/x_agi_b001_222380.php?news_id=222380