เมื่อวันที่ 23 กันยายน 51
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ สังกัดกรมประมง ได้ดำเนิน “โครงการศูนย์การเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลมูลค่าสูง” และสามารถเพาะพันธุ์ปลาทะเลชนิดใหม่หลายชนิด แล้วนำไปแจกจ่ายแก่ชาวประมงไว้เลี้ยงเพื่อดำรงชีวิต
นายไพบูลย์ บุญลิปตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ เผยว่า ในอดีตการเพาะเลี้ยงและวิธีการอนุบาลลูกปลาทะเลที่ผ่านมา จะใช้วิธีการในรูปแบบเก่าๆ ซึ่งดำเนินการมานานแล้วหลายปี กระทั่งในปี 2551 นี้ ทางศูนย์ฯ ค้นพบวิธีการอนุบาล....ลูกปลากุดสลาด ที่เพาะพันธุ์ยากมาก จนประสบความสำเร็จ โดยใช้ ทรัพยากรการผลิตแบบพอเพียง ตามศักยภาพของปัจจัย
ปลากุดสลาด จัดอยู่ในวงศ์ปลากะรัง หรือปลาเก๋าจุดฟ้า อยู่ในกลุ่มปลาเก๋าขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีลักษณะส่วนหัวและลำตัวค่อนข้างสมดุล ตาค่อนข้างเล็กชิดไปทางด้านบน ปากเล็ก มีครีบหลัง 2 ชุด เริ่มจากก้านครีบแข็งและต่อด้วยครีบอ่อน จนเกือบถึงโคนหาง ครีบหูมนกลม หางตัดตรง ลำตัวเป็นสีแดงอมเหลือง ทั่วตัวมีจุดสีฟ้าอ่อนๆ กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์และชื่อปลาชนิดนี้
มันเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ตามหินกลางทะเลและตามเกาะแก่งโดยทั่วไป ทั้งในบริเวณน้ำตื้นและน้ำลึก โดยมีการพบ ในฝั่งอ่าวไทย มากกว่า ทะเลอันดามัน ขนาดความยาวของลำตัวที่เคยจับได้ประมาณ 1 เมตร
ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ กล่าวอีก ว่าปลากุดสลาดมีขนาดปากเล็กและบอบบางต่อการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งสิ่งที่มากระทบจึงทำให้การเพาะเลี้ยงเป็นไปได้ยากมาก เพราะเป็นปลาเนื้อทั้งนุ่มและแน่นถูกปากผู้บริโภค ทำให้ตลาดมีความต้องการสูง ราคาจึงแพง ซื้อขายกันในตลาดที่ 700-800 บาทต่อกิโลกรัม การค้นพบวิธีอนุบาลลูกปลากุดสลาดในครั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะได้ปลากุดสลาดขนาด 1 นิ้ว ไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว
นับ จากนี้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่อนุบาลยากและใกล้จะสูญพันธุ์ จะต้องได้รับการพัฒนาและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมีความแน่นอน ในอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น เป็นการเพิ่มศักยภาพทางด้าน ประมงทะเล ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
สนใจข้อมูลติดต่อศูนย์ วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กระบี่ 141 หมู่ที่ 6 ตำบลไส-ไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ หรือกริ๊งกร๊างไปที่ 07-566-2059-60 Fax 07-566-2060 และคลิก E-mail : [email protected]
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 กันยายน 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=105105