วางมาตรการเข้ม เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 51
วางมาตรการเข้ม เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์การเกิดโรคไข้หวัดนกกว่า 4 ปีที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์หาแนวทางในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ทำให้ปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มคลี่คลายออกไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อต้นปี 2551 ที่ผ่านมา พบจุดเกิดโรคเพียง 2 จุด คือ ที่ หมู่ 3 ต.พิกุล อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ พบเมื่อวันที่ 22 ม.ค.2551 และหมู่ 7 บ้านท่าพิกุล ต.สากเหล็ก อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร พบเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2551 และนับจากที่มีการระบาดครั้งสุดท้ายที่จังหวัดพิจิตรก็ยังไม่พบโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกอีกเลย
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์การเกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทางกรมฯ ก็มิได้นิ่งนอนใจยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเฝ้าระวังทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ซึ่งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ต้องร่วมมือกันจึงจะประสบผลสำเร็จ เช่น หากเกษตรกรพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติโดยสงสัยว่าเป็นโรคไข้หวัดนก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ อาสาสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเข้าไปดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการและดำเนินการควบคุมโรคทันที
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้รณรงค์ ค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกแบบบูรณาการ (x-ray) ปีละ 2 ครั้ง โดยให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสุ่มตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่ เพื่อค้นหาโรคไข้หวัดนกที่อาจแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ และยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ และเครือข่ายเฝ้าระวังโรค เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกแบบเคาะประตูบ้าน เพื่อสอบถามอาการของสัตว์ปีกจากเจ้าของทำการควบคุมโรค กำจัดโรคให้หมดไปโดยเร็ว ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงาน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุขกระทรวง มหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“จากสภาพอากาศปัจจุบันที่มีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพอากาศชื้น ซึ่งเหมาะสมกับการเกิดโรคไข้หวัดนกที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม ประกอบกับมีนกธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปติดต่อสัตว์ปีกที่เลี้ยงอยู่ตามใต้ถุนบ้าน หรือฟาร์มที่ขาดการเอาใจใส่ดูแลอย่างเข้ม งวด โดยมาตรการในช่วงนี้ กรมฯจะเน้นในเรื่อง “สุขภาพสัตว์เป็นสำคัญ” เพราะสัตว์ก็ไม่ต่างจากคน หากเรามีสถานที่เลี้ยงที่ดีก็จะช่วยทำให้สัตว์เหล่านั้นไม่เครียด ร่างกายก็จะแข็งแรง ทนทานต่อโรค” นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าว
กรมปศุสัตว์ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในนกธรรมชาติ โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างอุจจาระและซากนกที่ตาย โดยในปี 2551 ยังไม่พบผลบวกต่อโรคไข้หวัดนกแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ทางกรมปศุสัตว์แนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ปีกแบบป้องกันมิให้สัมผัสกับนกธรรมชาติ โดยการใช้ตาข่าย หรือเลี้ยงแบบโรงเรือนปิด ส่วนเกษตรกรรายย่อย หรือเลี้ยงแบบใต้ถุนบ้าน แนะนำให้มีเล้าหรือโรงเรือนที่สามารถป้องกันนกธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นพาหะนำโรคไข้หวัดนกได้
โรคไข้หวัดนก นับเป็นโรคที่เกิดขึ้นมา นานหลายปี สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันโรค เพื่อมิให้เกิดการแพร่ระบาด คือ ผู้เลี้ยงจะต้องศึกษาวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้อง มีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตัวเอง รวมถึงต้องให้ความร่วมมือกับทางราชการในการเฝ้าระวังและควบคุมโรค เพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=177534&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น