แบรนด์ข้าวหอมมะลิ 'ทุ่งกุลาฟาร์ม' แบรนด์แห่งเกษตรกรไทย
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 51
แบรนด์ข้าวหอมมะลิ 'ทุ่งกุลาฟาร์ม' แบรนด์แห่งเกษตรกรไทย
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งกว้างใหญ่ ของภาคอีสาน มีเนื้อที่ประมาณ 2,107,681ไร่ อาณาเขตครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ อ.ปทุมรัตน์ อ.เกษตร วิสัย และ อ.สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อ.ชุมพลบุรี อ.ท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อ.พุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ อ.มหาชนะชัย จังหวัดยโสธร และ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นฐานการผลิตข้าวหอมมะลิแหล่งใหญ่ของประเทศ โดยข้าวหอมมะลิ หรือชื่อทางราชการว่า “ข้าวขาวดอกมะลิ 105” เป็นข้าวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องความหอม นุ่ม อร่อย เป็นคุณลักษณะพิเศษต่างจากข้าวพันธุ์อื่น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้เป็นที่ยอมรับกันว่ามีมาตรฐาน ส่งผลให้ชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิโด่งดังไปทั่วโลก
และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ให้เป็นสินค้าลักษณะพิเศษ ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงการส่งออก ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้มีการส่งเสริมการจัดการธุรกิจการตลาดของสถาบันเกษตรกรขึ้น โดยการพัฒนาการรวมตัวกันของเกษตรกร เพื่อเป็นกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรในการรวบรวมผลผลิตเพื่อการแปรรูป การจำหน่าย เชื่อมโยงกับตลาดภายในและต่างประเทศ
และขณะนี้ทางสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด สหกรณ์การเกษตรสุวรรณภูมิ จำกัด สหกรณ์การเกษตรโพนทราย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด สหกรณ์การเกษตรชุมพลบุรี จำกัด จังหวัดสุรินทร์ สหกรณ์การเกษตรมหาชนะชัย จำกัด จังหวัดยโสธร และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ศรีสะเกษ จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่สามารถผลิตข้าวหอมมะลิให้มีคุณภาพสูงขึ้น โดยมีต้นทุนการผลิตน้อยลง ได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน GMP แล้ว มารวมตัวกันเป็นเครือข่าย พร้อมทั้งได้ทำข้อตกลงร่วมกันที่จะผลิตสินค้าข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดภายใต้ตราสินค้าเดียวกัน คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฟาร์ม เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและสร้างเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิจากพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อีกด้วย
นายปราโมช ถาวร รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการสร้างแบรนด์ข้าวหอมมะลิว่า “ตอนนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สร้างแบรนด์ของสหกรณ์เอง ซึ่งข้าวของสหกรณ์เขตทุ่งกุลาร้องไห้เป็นที่ยอมรับในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ที่เรากล้ายืนยันเนื่องจากเราได้ทำธุรกิจข้าวกับบริษัทแอมเวย์ และเขาก็เอาไปขายในนามของแอมเวย์ ถึงแม้ราคาจะสูงมากกว่าตลาดแต่มีคนซื้อ เพราะผู้บริโภคมีความมั่นใจในแบรนด์แอมเวย์ เมื่อข้าวของสหกรณ์เข้าไปสู่กระบวนการของแอมเวย์จนเป็นที่ยอมรับ เราก็ต้องการให้ผู้บริโภครู้ว่าข้าวนี้คือข้าวที่สหกรณ์ทำเองจริง ๆ เราจึงทำแบรนด์ของสหกรณ์ออกมาเป็นแบรนด์ของสหกรณ์โดยตรง” นายปราโมช กล่าว
และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นสินค้าลักษณะพิเศษ โดยการกำหนดมาตรฐานสร้างเครื่องหมายการค้า กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงสนับสนุนสหกรณ์ให้มีตราสินค้าข้าวของสหกรณ์ในทุ่งกุลาร้องไห้เพื่อนำไปใช้เป็นตราสินค้าร่วมกัน บริหารจัดการร่วมกันภายใต้การใช้สินค้าตราเดียวกัน คุณภาพเดียวกัน รวมถึงร่วมกันพัฒนาให้เป็นตราที่เข้มแข็งและมีคุณค่า เกิดภาพลักษณ์ที่ดีมีคุณค่า (Brand Quality) เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและสร้างทัศคติที่ดีของผู้บริโภคต่อตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
“คาดว่าผลผลิตที่เกิดจากโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมีตราสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ จะสร้างความโดดเด่นของสินค้าข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และช่วยสร้างทัศนคติที่ดีของผู้บริโภคต่อตราสินค้าให้รู้จักแพร่หลาย ทั้งในและต่างประเทศ ตามเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ให้เป็นสินค้าลักษณะพิเศษ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กระตุ้นให้สหกรณ์ ได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพสินค้าข้าวของโครงการตามข้อกำหนดการใช้ตราสินค้า เป็นการสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าข้าวตามโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นที่ประจักษ์ และช่วยพัฒนาการทำงานร่วมกันและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสหกรณ์ ในการสร้างตราเพื่อให้เกิดเป็นแบรนด์สินค้าคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปทั้งในและต่างประเทศต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 กันยายน 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=177756&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น