วิศวกรไทยรับรางวัลที่ 1 ของโลกออกแบบระบบทำความเย็นอุตสาหกรรม
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 51
วิศวกรไทยรับรางวัลที่ 1 ของโลกออกแบบระบบทำความเย็นอุตสาหกรรม
บริษัท ไอ.ที.ซี (1993) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ 115, 117, 119 ซอยรามคำแหง 58/4 ใกล้สี่แยกลำสาลี แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มี นายอภิชิต ล้ำเลิศพงศ์พนา เป็นกรรมการผู้จัดการ ได้รับรางวัลชนะที่ 1 จากการส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ASHRAE Technology Award (ASHRAE-American Society of Heating, Refrigeration and Air Conditioning Engineers, Inc.) หมวดอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิต (The Industrial facilities or Processes) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประกวดจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
สำหรับผลงานดังกล่าวได้แก่การที่บริษัท ไอ.ที.ซี. จำกัด เป็นผู้ออกแบบและจัดหาพร้อมติดตั้งระบบทำความเย็นให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) จังหวัดนครราชสีมา หรือที่รู้จักกันดีในนามของ ซีพีโคราช ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตไก่สดแช่แข็งเพื่อการส่งออกที่ใหญ่แห่งหนึ่งของเอเชีย โดยลักษณะของโครงการเป็นอาคารเพื่อการผลิตอาหารที่ต้องใช้ระบบความเย็นที่อุณหภูมิที่ต่ำมากและระบบปรับอากาศที่สะอาดเพื่อให้เหมาะสมกับโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกและโรงงานผลิตอาหารที่สะอาด ซึ่งขนาดของอาคารมีเนื้อที่รวม 50,000 ตารางเมตร แปรรูปไก่วันละ 360,000 ตัว/วัน โดยเป้าหมายของการออกแบบได้แก่ 1. ระบบทำความเย็นต้องปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน สินค้าที่ผลิตออกมาต้องมีความสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน GMP และ HACCP 2. มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุดและการออกแบบเพื่อใช้งานได้อย่างยั่งยืน 3. เงินลงทุนต่ำ 4. ระบบทำความเย็นที่ออกแบบต้องมีชั่วโมงของเครื่องจักรหยุดชะงักการทำงานต่ำ (Down time) 5. ระบบทำความเย็นที่ออกแบบต้องประหยัดพลังงาน และ 6. ระบบทำความเย็นที่ออกแบบต้องมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมต่ำ
จากเป้าหมายทำให้ได้ผลดังนี้ 1. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 8,000,000 บาท 2. มูลค่าพลังงานที่สามารถลดได้ 10,292,600 บาท/ปี 3. สามารถประหยัดการใช้น้ำ 4,610,232 บาท/ปี 4. สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 1,900 เมตริกตันต่อปี เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน 5. การใช้สารแอมโมเนียทำความเย็นลดลง 23,000 กิโลกรัม ซึ่งลดผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมได้มาก และ 6. จากการประหยัดการใช้น้ำส่งผลให้ลดปริมาณ น้ำเสียที่จะทิ้งไปในบ่อน้ำเสียได้ถึง 9,864,000 แกล ลอนต่อปี
สำหรับมูลค่าของการประหยัดต้นทุน ประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำ และลดภาวะโลกร้อนถือว่าเป็นผลงานการออกแบบชิ้นโบแดงที่ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ASHRAE Technology Award นับว่าเป็นความสามารถของบริษัทที่คนไทยเป็นเจ้าของและมีทีมงานเป็นวิศวกรไทยล้วน
โรงงานดังกล่าวใช้เครื่องอัดน้ำยา “คอมเพรสเซอร์” ยี่ห้อเอฟอีเอส ของประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 46 เครื่อง โดยใช้แรงม้าขับเคลื่อนรวมประมาณ 18,000 แรงม้า ชุดระบายความร้อน “อีวาโปเรตีฟคอนเดนเซอร์” เป็นท่อเหล็กปลอดสนิม ซึ่งมีความยาวรวมประมาณ 200 กิโลเมตรและเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไอ.ที.ซี. จำกัด ด้วยเช่นกัน
บริษัท ไอ.ที.ซี. (1993) จำกัด โดยนายอภิชิต ได้ไปรับรางวัลนี้เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ณ โรงแรม นิวยอร์ค ฮิลตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นรางวัลที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจของทีมงานบริษัท ไอ.ที.ซี. จำกัดอย่างยิ่ง ซึ่งก่อนที่จะชนะที่ 1 ระดับโลกจะต้องผ่านการประกวดระดับเอเชียแปซิฟิกก่อน ซึ่งมีประเทศสมาชิกคือ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
นับว่าเป็นบริษัทที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและทำให้ต่างประเทศยอมรับผลงานและความสามารถของคนไทย ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสสำหรับบริษัทคนไทยต่อไปในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 มกราคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=152097&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น