เมื่อวันที่ 29 กันยายน 51
และที่สำคัญคือตอนนี้ไก่เนื้อซึ่งเป็นไก่พันธุ์จากบริษัทใหญ่ ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะว่ามีการเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ทำให้ความสนใจเรื่องไก่พื้นเมืองดูเหมือนว่าจะจางลงไปมาก
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยของ ดร. อุษา กลิ่นหอม จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาในการผลิตและจัดการผลผลิตไก่พื้นเมืองของชนเผ่าในภาคอีสานซึ่งมีอยู่ถึง 17 ชนเผ่าด้วยกัน ไม่ว่จะเป็นเยอ กูย ญ้อ นครไท ไทดำ เป็นต้น พบว่าชนเผ่าเหล่านี้เลี้ยงไก่พื้นเมืองแตกต่างกันถึง 11 ชนิด
ที่สำคัญคือการเลี้ยงไก่ดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงแค่เพื่อทำอาหารเท่านั้น แต่ยังผูกพันกับวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพิธีกรรมต่างๆ ซี่งมีเป็นประจำในแต่ละปี รวมไปถึงเป็นแหล่งสะสมเงินทองเพื่อใช้สอยในยามจำเป็น หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นตู้เอทีเอ็มมีชีวิตก็คงไม่ผิด เพราะว่าเป้าหมายในการเลี้ยงไก่พื้นเมืองก็คือไว้เป็นอาหารในบางโอกาส และเป็นรายได้เมื่อจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกเข้าโรงเรียน ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น
เนื่องเพราะว่าไก่พื้นเมืองอาจจัดได้ว่าเป็นผลิตผลทางเกษตรอย่างเดียวที่ชาวบ้านสามารถกำหนดราคาขายได้เองและขายได้ทุกเมื่อที่ต้องการ แต่ที่สำคัญคือไม่มีต้นทุนการผลิต เพราะว่าปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ส่วนการที่จะผลิตมากน้อยแค่ไหนในแต่ละปี ก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ภายนอกหรือแผนของแต่ละคนที่ตั้งไว้ อย่างเช่น ถ้าปีไหนมีการปลูกข้าวหรือทำนามาก และต้องการแรงงานมาช่วยเยอะ ก็จะมีการเพาะพันธุ์ผลิตลูกไก่ให้มากขึ้น เพื่อเอาไว้เลี้ยงดูคนมาช่วยงาน หรือหากวางแผนว่าจะต้องใช้เงินเพื่อการศึกษาของลูก ก็จะเตรียมการผลิตลูกไก่ให้มากขึ้น เพื่อเตรียมไว้หาเงินมาใช้ในช่วงที่ต้องการ
ในอดีตมีการบริโภคไก่ในครัวเรือนค่อนข้างน้อยโดยเฉลี่ยเพียงแค่ 1 ตัวต่อเดือนเท่านั้นในชุมชนที่ยังดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมจริงๆ แต่ปัจจุบันก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4 ตัวต่อเดือน และก็มักใช้ในโอกาสต่างๆ เช่นเพื่อนมาเยี่ยมบ้าน งานเกี่ยวข้าว และฉลองต่างๆ โดยที่ไก่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ ไม่ใช่มาจากฟาร์มใหญ่
แนวคิดที่จะสนับสนุนให้มีการพัฒนาไก่พื้นเมืองเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ อาจจะได้ผลผลิตจำนวนมากพอที่จะป้อนตลาดในเมืองได้มากขึ้น แต่ว่าหากมองผลเสียที่จะตามมาแล้วคงต้องคิดให้ดี เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่เราเลี้ยงในปริมาณมาก ราคาก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด สิ่งที่เคยเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านก็จะเริ่มเปลี่ยนไป แหล่งรายได้สำรองของครอบครัวก็จะเริ่มมีปัญหา และที่สำคัญคือแนวคิดที่ว่าไก่พื้นเมืองเป็นแหล่งหนึ่งในการแพร่เชื้อไข้หวัดนกจนถึงขั้นจะให้เลิกเลี้ยงไก่พื้นเมืองนั้น ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องไตร่ตรองให้ดี เพราะว่าการทำเช่นนี้ไม่ได้มีผลกระทบเพียงแค่ไก่เท่านั้น แต่มีผลที่กว้างไกลกว่านั้นมาก
สิ่งที่ต้องคำนึงผลเสียหายอาจไกลเกินกว่าที่จะคาดคิดก็ได้ครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 29 กันยายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/09/29/x_agi_b001_223159.php?news_id=223159