เมื่อวันที่ 30 กันยายน 51
นับเป็นผลงานชิ้นเอกของทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) จ.นครราชสีมา สำหรับ "เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราต้นแบบ"
โดยการนำของ ผศ.มงคล คธาพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ เผยทุ่นแรง เวลา ประหยัด หลังใช้เวลาวิจัยพัฒนากว่า 2 ปี ระบุทำงานครบในเครื่องเดียวทั้งเปิดหลุม-โรยปุ๋ย-ฝังกลบ และสามารถปรับเป็นรถบรรทุกได้ด้วย
ผศ.มงคล หัวหน้าทีมกล่าว ว่าจากนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยาง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกกันมาก แต่พบว่ามีปัญหาเรื่องการให้ปุ๋ยที่ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่สุขภาพของเกษตรกรทรุดโทรม ดังนั้นทีมวิจัยจึงเข้าไปศึกษาและหาแนวทางช่วยเหลือโดยคิดประดิษฐ์เครื่องมือทุ่นแรงนี้ขึ้น
"ทีมงานได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จากสถาบันวิจัยและพัฒนา (สวพ.) 1.4 แสนบาท เมื่อปี 2549 และได้ออกแบบเครื่องต้นแบบขึ้นจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยใช้ต้นทุนผลิตเพียง 8 หมื่นบาท และพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องอย่างต่อเนื่องจนเป็น "เครื่องโรยปุ๋ยยางพาราต้นแบบ" ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำงานครบในเครื่องเดียวทั้งเปิดหลุม โรยปุ๋ย ฝังกลบ" ผศ.มงคลแจง
ผศ.มงคล ยังกล่าวถึงส่วนประกอบสำคัญของเครื่องนี้ว่ามี 1.ชุดโครงเครื่อง หรือตัวรถโรยปุ๋ย 2.ถังบรรจุปุ๋ย ขนาด 500 กิโลกรัม พร้อมชุดลำเลียงและโรยปุ๋ย 3.ชุดเปิดและกลบร่อง 4.ชุดควบคุมบังคับเลี้ยว และ 5.ชุดตัดต่อการลำเลียงปุ๋ย
พร้อมบอกถึงการทำงานของครื่องนี้ว่า ขั้นแรกต่อพ่วงเครื่องโรยปุ๋ยกับรถไถเดินตามทั่วไปซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้อยู่แล้ว และขณะเครื่องเคลื่อนที่ชุดเปิดร่องดิน จะเปิดร่องดินให้ลึก 5-7 เซนติเมตร ก่อนที่สว่านซึ่งอยู่ในถังปุ๋ยด้านใต้ตัวรถจะลำเลียงปุ๋ยโรยลงในร่องดิน อัตราส่วน 16 กิโลกรัมต่อระยะทาง 100 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วในการขับเคลื่อน
"จากนั้นตัวกลบร่องจะกลบร่องด้วยดินเดิม และเมื่อถึงหัวแปลง ผู้ขับต้องตัดการลำเลียงปุ๋ยพร้อมยกชุดเปิดและกลบร่องขึ้น แล้วบังคับเลี้ยวหัวแปลงด้วยคันบังคับเลี้ยว เมื่อเข้าร่องแปลงแล้วผู้ขับก็วางชุดเปิดและกลบร่องลง พร้อมปลดคันตัดการลำเลียงปุ๋ย เป็นอันเสร็จขั้นตอน" ผศ.มงคลกล่าว
จากการทดลองในแปลงของเกษตรกร ผศ.มงคล พบว่าแรงงาน 1 คน ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน หว่านปุ๋ยได้ 10 ไร่ โดยจ่ายค่าจ้างวันละ 180 บาทต่อคน แต่เครื่องนี้สามารถทำได้ 14.33 ไร่ต่อชั่วโมง เมื่อเทียบกับแรงงานคนต่อวันจะโรยปุ๋ยได้ถึง 114.64 ไร่ เสียค่าใช้จ่ายเพียง 326 บาท เป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
"เครื่องนี้ยังปรับเป็นรถบรรทุกได้ โดยถอดนอตยึดถังบรรจุปุ๋ยและสว่านลำเลียงออก ก่อนเลื่อนถังไปด้านท้ายออกจากตัวรถ จากนั้นปลดชุดเปิดและกลบร่องออกจากตัวรถ และล็อกคันบังคับเลี้ยวหัวแปลงไม่ให้ทำงานก็จะได้รถบรรทุกสิ่งของต่างๆ ซึ่งตอนนี้เสนอขอจดสิทธิบัตรนาม มทร.อีสาน กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รออนุมัติเท่านั้น"
ส่วนการพัฒนาต่อไปนั้น ผศ.มงคลกล่าว ว่าขณะนี้เป็นเพียงเครื่องต้นแบบ ที่ต้นทุนการผลิตยังสูงไม่เหมาะกับเกษตรกรรายย่อย อนาคตจึงจะต้องพัฒนาให้เครื่องมีขนาดเล็กลง ราคาถูก และใช้งานได้ง่าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 30 กันยายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/09/30/x_agi_b001_223519.php?news_id=223519