เมื่อวันที่ 3 มกราคม 51
นายยุทธชัย อนุรักติพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาภาวะโลกร้อนสำนักวิจัยและพัฒนาการ จัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน เผยว่า ในแต่ละปีภาคเกษตรมีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 58 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยเกิดจากการเผาไหม้ เศษวัสดุที่เหลือจากการเกษตร เช่น การเผาฟางข้าว ข้าวโพด อ้อย และการหมักของเศษ วัสดุอินทรีย์ ซึ่งเป็นตัวการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ทั้งภาคปศุสัตว์และแหล่งน้ำ เป็นต้น ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือการรณรงค์ให้เกษตรกรลดเผาตอซังเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
กรมได้จัดทำ “โครงการศึกษาวิจัยการสับกลบเศษพืชเพื่อลดการเผาตอซัง” งานวิจัยนี้เพื่อ เปรียบเทียบผลของการกักเก็บและการคงอยู่ของอินทรีย์คาร์บอน ระหว่างการเพาะปลูกพืช ในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งประเมินผลผลิตพืชที่ได้จากแปลงทดลองและปริมาณที่เหมาะสม ในการใช้เศษพืช เพื่อปรับปรุงดินและลดการเผาทิ้งของเศษพืชที่มีผลต่อการปลดปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเน้นการทำแปลงสาธิตสร้างจิตสำนึก และประชาสัมพันธ์ ให้เกษตรกรทราบถึงผลลัพธ์ดังกล่าว โดยตั้งเป้าดำเนินการในรูปแบบแปลงสาธิตกระจายอยู่ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ 514 แปลงสาธิต รวมพื้นที่ 10,280 ไร่
นายยุทธชัยเผยอีกว่า ผลการวิจัยเสร็จสิ้นภายในปี 2551 เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ ไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรได้ตระหนักถึง ผลเสียของการเผาตอซังได้อย่างชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ลดการปลดปล่อยก๊าซสาเหตุของโลกร้อนอย่างน้อย 10% หรือ 5.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อปี ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินทำให้ดินฟื้นคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 3 มกราคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=73835