เมื่อวันที่ 21 มกราคม 51
คราวที่แล้วได้พูดถึงความพยายามในการกำหนดยุทธศาสตร์กุ้งไทยขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการวิจัยเพื่อการสร้างองค์ความรู้เพื่อใช้ในการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งของไทยให้มีความสามารถสูงขึ้น
ซึ่งเป็นความพยายามของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. แต่ก่อนที่จะได้ยุทธศาสตร์ออกมาก็ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นและสาเหตุที่แท้จริง เพื่อนำไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม
ที่สุดทาง สวทช.ได้สรุปปัญหาของภาคอุตสาหกรรมออกมาได้เป็นส่วนๆ คือ ตอนต้นทาง ได้แก่กระบวนการเลี้ยงไปจนถึงปลายทาง คือการแปรรูปและการเพิ่มมูลค่าก่อนส่งออกไปขาย ในส่วนของการเลี้ยงนั้น ปัญหาสำคัญคือเรื่องของการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์กุ้ง ซึ่งจากเดิมต้องไปจับมาจากธรรมชาติเนื่องจากยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้
ในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำนั้นประมาณกันว่า ต้องการใช้พ่อแม่พันธุ์ประมาณปีละ 3 หมื่นตัว จึงต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้น ที่สำคัญคือได้โรคติดมาด้วย ส่วนกรณีการเลี้ยงกุ้งขาว ก็ต้องนำเข้าพ่อแม่พันธุ์มาจากต่างประเทศเหมือนกัน เพราะว่ากุ้งขาวไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บ้านเรา แต่เป็นกุ้งที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมา กระทั่งได้เป็นสายพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง แต่ปัญหาคือหากผู้เลี้ยงนำมาเลี้ยงและปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองหลายรุ่น ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือกุ้งจะอ่อนแอลงเพราะมีการผสมพันธุ์แบบที่เรียกว่าเลือดชิด ทำให้ลักษณะด้อยต่างๆ ที่แฝงอยู่ปรากฏชัดเจน
ความจริงปัญหาแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกุ้งเท่านั้น แต่การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ใดๆ ที่ปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองแบบนี้ก็ก่อให้เกิดปัญหาเช่นกัน ปัญหาเรื่องโรคกุ้งทำให้ลูกกุ้งมีโอกาสตายมากขึ้น และเมื่อเลี้ยงไปแล้วก็มักจะไม่โต เรียกว่าเปลืองอาหารที่ใช้เลี้ยง แต่ว่าเปลี่ยนเป็นเนื้อได้ไม่คุ้มกับค่าอาหารที่ลงทุนไป ผลก็คือเกิดการขาดทุน ที่สำคัญคือราคาอาหารกุ้งก็สูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อน้ำมันแพง ราคาอาหารก็แพงตามด้วย เพราะในการผลิตก็ต้องใช้พลังงาน
ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกัน และต้องแก้ไขทั้งระบบ ส่วนปัญหาด้านอุตสาหกรรมปลายทาง คือการเก็บเกี่ยวไปจนถึงการเพิ่มมูลค่าและการแปรรูปก็มีไม่แพ้กัน เช่น การใช้สารเคมีในการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสมและใกล้ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ดังนั้นจึงเจอปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในเนื้อกุ้ง รวมทั้งการจัดการที่ยังไม่ดีพอ จึงเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญของการส่งออกไปต่างประเทศ หรือแม้แต่การใช้บริโภคภายในประเทศก็ตาม
อีกด้านคือเรื่องแปรรูป โดยเฉพาะการแช่แข็ง ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยี หากเป็นบริษัทใหญ่ๆ ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่หากเป็นรายย่อยก็จะมีปัญหาว่าต้นทุนที่ใช้ค่อนข้างสูงกว่ารายใหญ่ ที่สำคัญคือความรู้พื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นยังมีความต้องการความรู้อีกมากเพื่อช่วยอุตสาหกรรมนี้ให้อยู่รอดและสามารถแข่งขันกับประเทศที่เลี้ยงกุ้งเหมือนเราได้
อย่างไรก็ตาม เมืองไทยยังมีจุดแข็งในอีกหลายเรื่อง เช่น มีการวิจัยและพัฒนาความรู้ที่เกี่ยวกับกุ้งกุลาดำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการเลี้ยง เกษตรกรเองก็มีทักษะและประสบการณ์สูง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็มีความพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานสากล ที่สำคัญคือวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตก็หาได้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งชื่อเสียงกุ้งไทยเป็นที่ยอมรับจากตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐค่อนข้างมาก
ดังนั้น เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มาดูแล้ว โอกาสที่เราจะพัฒนากุ้งกุลาดำให้กลับมาเป็นสินค้าหลักของเราก็ไม่น่าจะเกินความสามารถไปได้หากมีแผนยุทธศาสตร์ที่ดีพอ และที่สำคัญคือเมื่อมีการปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ให้เกิดรูปธรรมอย่างแท้จริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 21 มกราคม 2551
http://www.komchadluek.net/2008/01/21/b001_186414.php?news_id=186414