อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ร่วมปกป้องพันธุ์พืชไทยให้อยู่คู่ผืนแผ่นดิน
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 51
อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ร่วมปกป้องพันธุ์พืชไทยให้อยู่คู่ผืนแผ่นดิน
เพื่อเป็นการสนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการดำเนินงาน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดตั้ง โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ในกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ คือปกป้องพันธุกรรมพืช สำรวจเก็บรักษาพันธุกรรมพืช ปลูกรักษาพันธุกรรมพืช อนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช เป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์พืชที่หายาก หรือใกล้จะสูญพันธุ์หรือเห็นว่าควรทำการอนุรักษ์ เพื่อเป็นแหล่งศึกษา วิจัย พัฒนาพันธุ์พืชและรวบรวมพันธุ์พืชที่จัดอยู่ในกลุ่มเชิงอนุรักษ์ เป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์แก่เยาวชนและเผยแพร่ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป ซึ่งได้ดำเนินการเป็นช่วงระยะเวลา ช่วงละ 5 ปี โดยเริ่มช่วงที่ 1 พ.ศ. 2533-2544 กระทั่งสิ้นสุดช่วงที่ 3 พ.ศ. 2545-2549 และกำลังเข้าสู่ช่วงที่ 4 พ.ศ. 2550-2554
นายวินัย สมประสงค์ นักวิชาการเกษตร 8 ว กล่าวว่า การที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริในโครงการดังกล่าวนั้นนอกจากเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศไทยให้คงอยู่ คู่กับประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการปกป้องการฉกฉวยการใช้ประโยชน์พันธุ์พืชของไทยโดยชาวต่างชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นในปี 2537 ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับพันธุ์พืชบางชนิดของไทยในอดีต
ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงกำหนดเป้าหมายเพื่อสนองแนวพระราชดำริ ด้วยการสำรวจ เก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชที่สำรวจ เก็บรวบรวม และปลูกรักษาในสภาพธรรมชาติ และแปลงทดลองทั้งในสภาพสันฐานวิทยา ชีววิทยา สรีรวิทยา การศึกษาด้านพันธุกรรม การจำแนกสายพันธุ์ ด้าน ชีวโมเลกุลพืช มีการบันทึกข้อมูลของการสำรวจ เก็บรวบรวม ศึกษาประเมินอนุรักษ์และใช้ประโยชน์รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลพรรณไม้แห้ง และ พันธุกรรมพืชในศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืชให้เป็นระบบเพื่อที่จะสามารถสื่อถึงกันได้ระหว่างหน่วยงาน และสนับสนุนพัฒนาให้แปลงรวบรวมพันธุกรรมพืชของกรมวิชาการเกษตรเป็นสถานที่แสดงพันธุกรรมพืชเพื่อการศึกษา เป็นการเสริมสร้างจิตสำนึกให้บุคคลทั่วไปตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุกรรมพืช ให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
นายวินัย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานที่ที่ใช้ในการรวบรวมพันธุกรรม พืชเพื่อการศึกษาของกรมวิชาการเกษตร นั้นคือ พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ ซึ่ง เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าวิจัยข้อมูลพื้นฐานทางพฤกษศาสตร์ ให้การสนับสนุนการวิจัยทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องหรือวิทยาการ สาขาอื่น ๆ โดยศึกษาลักษณะภายนอกของพืชเพื่อให้ทราบชนิด ลักษณะทางชีววิทยา อนุกรมวิธานพืช และศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชพื้นเมือง ส่วนที่สำคัญคือ การรวบรวมพืชในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์พืช มีตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ตัวอย่างดอง ตัวอย่างเมล็ด และการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช แปลงรวบรวมพันธุ์พืชเรือนเพาะชำ ที่ศูนย์วิจัยและศูนย์บริการวิชาการและปัจจัยการผลิตของกรมวิชาการเกษตร และงานระบบฐานข้อมูลพรรณพืชและพรรณไม้
โดยปัจจุบันมีการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลทะเบียนพันธุ์ไม้แห้ง กว่า 70,000 ตัวอย่าง ที่สามารถพัฒนาให้เชื่อมโยงเป็นระบบในระหว่างหน่วยงานภายในกรมและหน่วยงานภายนอกที่เข้าร่วมสนองตามพระราชดำริ โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้บริการในวันและเวลาราชการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นเจ้าของผืนแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=178798&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น