เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 51
“อัลไซเมอร์” หรือความจำเสื่อม เป็นโรคที่ผู้คนในสังคมปัจจุบันเริ่มเป็นกันมากโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมี “ต้นสายปลายเหตุ” มาจากภาวะ “เครียดสั่งสม” ทั้งจากปัญหาสิ่งแวดล้อม อาหาร ขาดการออกกำลังกาย รวมทั้ง “โหม” งานหนัก พักผ่อนน้อย
ส่งผลให้ สมองเกิดความล้า จำเหตุการณ์ และ ช่วงเวลาได้ไม่แน่นอน ขี้หลงขี้ลืมในระยะแรกๆ ต่อมาพฤติกรรม บุคลิกเริ่มเปลี่ยน ความทรงจำความนึกคิด การมีเหตุมีผล (cognitive) เริ่มลดน้อยถอยลง
เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว รศ.ดร. อรุณศรี ปรีเปรม คณะเภสัชศาสตร์ รศ.ดร.สมเดช กนกเมธากุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงนำพริกไทยดำมาสกัด เพื่อใช้ “รักษาภาวะความจำบกพร่อง”
รศ.ดร.อรุณศรี บอกว่า โครงการดังกล่าวทีมวิจัยได้ทำการศึกษามาเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเริ่มแรกนั้น คณะแพทยศาสตร์ ทำการศึกษาสมุนไพรหลายชนิดคือ หัวหอม ใบบัวบก ขิง พริกไทย เพื่อเอามาคัดว่าสารกลุ่มไหนมีโอกาสสามารถนำมาใช้ได้ดีที่สุด
และพบว่า “พริกไทยดำ” จะมีสาร พิเพอร์ลีน ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้สมองส่วนที่บกพร่องสามารถกู้กลับคืนมาได้ ต่อมา รศ.ดร.สมเดช หนึ่งในทีมวิจัยฯ จึงเริ่มเสาะหาวัตถุดิบในหลายๆพื้นที่มาวิเคราะห์จึงได้ข้อมูลว่า พริกไทย ดำจากจังหวัดจันทบุรีมี สาร พิเพอร์ลีน คุณภาพยอดเยี่ยม
การสกัดสารฯ ด้วยการนำ “พริกไทยดำ” มาบรรจุภาชนะที่เตรียมไว้ในห้องปฏิบัติการ ใช้แอลกอฮอล์ 50 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับน้ำ วนกลั่นในเครื่องมือกระทั่งได้ สารที่ข้น จากนั้นนำมาทำให้บริสุทธิ์ ด้วยการปล่อยให้ตกผลึก ซึ่งต้องใช้เวลาหลายวัน จากน้ำ ที่ดำจะกลายเป็นผงขาว (พิเพอร์ลีน)
เพื่อให้ใช้ได้สะดวก หยอดจมูกแล้วไม่แสบฉุน ไม่ระคายเคือง ทีมวิจัยจึงนำไปปรับให้อยู่ในรูปอนุภาค “นาโน” โดยใช้ ไขมัน กับ ฟอสโฟลิปิด ซึ่งมีอยู่ใน ถั่วเหลือง และ ไข่แดง มาปั่นด้วยเทคโนโลยี กระทั่งพิเพอร์ลีนถูกหุ้มด้วยไขมัน ลักษณะใส ไม่มีกลิ่น ขนาดเล็ก สามารถใช้หยอดจมูก เพื่อนำไปสู่ระบบสมองได้โดยตรง
ผศ.ดร.จินตนาพรณ์ วัฒนธร ได้มาทดสอบกับหนูทดลองซึ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ ด้วยการหยอดเข้าทางจมูกวันละ 1 ครั้งในปริมาณที่เหมาะสม ระยะเวลา 1 เดือน ให้ผลว่า สารดังกล่าวสามารถช่วยทำให้สมองส่วนที่บกพร่องของสัตว์ ทดลองมีอาการกลับเป็นปกติ เหมือนหนูกลุ่มควบคุมที่ นำมาใช้เปรียบเทียบ
และ...ในขั้นต่อไปคณะวิจัยจะส่งต่อผลงานไปสู่คณะแพทยศาสตร์ เพื่อเริ่มนำไปทดลองกับกลุ่มอาสา
สมัคร....คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ แพทย์ไทยจะสามารถรักษาโรค “ขี้ลืม” ได้อย่างแน่นอน
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-9416-3967 ทุกวันในเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 6 ตุลาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=106642