เมื่อวันที่ 21 มกราคม 51
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ....ภาวะอันก่อให้เกิดความ รำคาญ และมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมี มูลมาจากหลายสาเหตุ เช่น การกระทบกระแทก เคล็ดหรือข้อพลิก และการใช้กล้ามเนื้อในการทำงานเป็นเวลานาน เป็นต้น
การบำบัดเพื่อให้บรรเทาก็มีหลายวิธีเช่นกัน อย่างรับประทานหรือทายา นวดและใช้ลูกประคบ ซึ่งก็พบว่าการใช้ยาแก้ปวดบางชนิดเช่น ยาในกลุ่ม diclofenac หากใช้เป็นเวลานานและต่อเนื่อง จะมีผลข้างเคียงอาจทำให้เกิดโรคตับและไตขึ้นในภายหลัง จึงมีการปัดฝุ่นเอาตำรับภูมิปัญญาไทยพื้นบ้าน แก้เคล็ดขัดยอกและแก้ปวด โดยการใช้ลูกประคบสมุนไพรนาบหรือกดประคบเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว แต่วิธีการค่อนข้างยุ่งยาก ขณะอุ่นหรือนึ่งอุณหภูมิอาจไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ตัวยาหรือสารสำคัญแพร่ออกมาได้ครบทุกตัว อีกทั้งน้ำมันหอมระเหย จากสมุนไพรไม่คงตัว และ มีปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ การดูดซึมของสารผ่านผิวหนัง ที่สำคัญ ไม่สะดวกต่อการใช้ หรือ พกพาไปในที่ต่างๆ
ภญ.รศ.ดร.อรัญญา มโนสร้อย คณะเภสัชศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ทำการวิจัยพัฒนาลูกประคบให้อยู่ในรูปแบบสเปรย์ฉีดพ่น ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากสมุนไพรไทยเลียนแบบลูกประคบเก็บกัก ในอนุภาคขนาดนาโน ให้เข้าสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดงานนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (วว.)
การทำวิจัยได้ ใช้ระบบนำส่งอนุภาคขนาดนาโนในรูปแบบนีโอโซม อนุภาคขนาดนาโนที่นิยมใช้เป็นระบบนำส่งมี 2 รูปแบบคือ ไลโปโซม (liposomes) และ นีโอโซม (niosomes) ซึ่ง ไลโปโซม เป็นอนุภาคหรือถุงกลมขนาดเล็กของสารไขมัน ที่เกิดจากโมเลกุลของไขมัน โดยเฉพาะฟอสโฟลิพิด (phospholipids) ที่จัดเรียงตัวเป็นชั้นสลับกับชั้นน้ำในสารละลายน้ำ โดยโมเลกุลของไขมันจะเรียงตัวโดยเอาส่วนที่มีขั้ว (polar head) เข้าหาน้ำและส่วนไม่มีขั้ว (non polar head) เข้าหาตัวมันเอง ส่วน นีโอโซม เป็นอนุภาคขนาดเล็กเช่นเดียวกับไลโปโซม แต่มีผนังประกอบด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ไม่มีประจุ (non-ionic surfactant) เช่น Tween และ Span แทนฟอสโฟลิพิดร่วมกับสารไขมัน เช่น คอเลสเทอรอลเช่นเดียวกับไลโปโซม
นอกจากนี้ ทีมงานวิจัยยังได้ใช้ เทคนิคการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนด้วยไซโคลเด็กตริน (cyclodextrin) ซึ่งผลิตได้จากแป้งโดยกระบวนการ enzymatic conversion นำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เกษตร อาหาร และ เภสัชกรรม
คณะผู้วิจัยได้นำสเปรย์ลูกประคบ มาทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ และ การบวมในหูหนูพันธุ์ Sprague Dawley เปรียบเทียบกับการใช้ยา คือ phenyl butazone และ ผลิตภัณฑ์เจลที่มีจำหน่าย ในท้องตลาด (ที่มีตัวยา 1% diclofenac diethylammonium salt equivalent to diclofenac sodium1%) พบว่าทั้งผลิตภัณฑ์สเปรย์ลูกประคบ phenylbutazone และผลิตภัณฑ์ เจล สามารถยับยั้งการบวมได้สูงสุดที่เวลา 15 นาที หนูกลุ่มที่ใช้ phenylbuta-zone ซึ่งเป็นยามีผลยับยั้งการบวมมากกว่าผลิตภัณฑ์สเปรย์ลูกประคบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เจล โดยผลิตภัณฑ์สเปรย์ลูกประคบมีฤทธิ์ยับยั้งการบวมของหูหนู (%edema inhibition) ได้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์เจลที่มี ตัวยา รวมทั้งมีฤทธิ์ยับยั้งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สเปรย์ลูกประคบเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากภูมิปัญญาไทย มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์เจลที่จัดเป็นยา
โครงการวิจัยนี้นอกจากจะช่วยให้มีการนำเทคโนโลยีนาโนซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง มาพัฒนาองค์ความรู้ที่มาจากภูมิปัญญาไทยให้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ แล้วยังมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของประเทศในการนำทรัพยากรธรรมชาติ จากสมุนไพรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย ซึ่งศาสตร์และผลงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ ที่ต้องการนำไปผลิตเป็นเชิงพาณิชย์ต่อไปได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 21 มกราคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=75911