แนวทางการเลี้ยงสัตว์ปีกให้ปลอดภัย แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 51
แนวทางการเลี้ยงสัตว์ปีกให้ปลอดภัย แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกอย่างยั่งยืน
"ปัญหา “โรคไข้หวัดนก” เป็นปัญหาที่ประเทศไทยประสบเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา และถือเป็นปัญหาระดับชาติไปเสียแล้ว ซึ่งไม่เฉพาะไก่ที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ตามใต้ถุนบ้านเท่านั้นที่มีความเสี่ยง สัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ เช่นไก่เนื้อ, ไก่ไข่, นกกระทา และเป็ดก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางในการป้องกันอย่างเร่งด่วน ในเรื่องนี้กรมปศุสัตว์ได้พยายามหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีความยั่งยืนขึ้น โดยส่วนหนึ่งคือการปรับรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ปีกแต่ละชนิดให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) มากยิ่งขึ้น
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การดำเนินงานของ กรมปศุสัตว์ที่ผ่านมาได้กำหนดแนวทางในการ ปรับระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกในแต่ละชนิด โดยกำหนดมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกชนิดต่าง ๆ เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พ่อแม่พันธุ์ นกกระทา เป็ดเนื้อ เป็ดไข่ และเป็ดพ่อแม่พันธุ์ รวมถึงมาตรฐานโรงฟัก เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตาม ซึ่งจะส่งผลให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์เศรษฐกิจที่มีการเลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดที่ผ่านมา
ในส่วนของสัตว์ปีกพื้นเมืองที่มีการเลี้ยงกระจายทั่วไปตามภูมิภาคต่าง ๆ และสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก กรมปศุสัตว์ได้มีโครงการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงและการจัดการที่ลดความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นในไก่พื้นเมืองขึ้นเมื่อปี 2551 และ ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ ที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเลี้ยงสัตว์ปีกได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้มีผลผลิตที่มากขึ้น สัตว์ปีกมีสุขภาพดี และไม่ป่วยด้วยโรคระบาด เกษตรกรนำสัตว์ปีกมาบริโภคและเหลือจำหน่ายในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ โดยไม่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมทั้งอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังโรคด้วย ซึ่งในปี 2552 กรมปศุสัตว์จะได้ขยายโครงการดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่น ๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดนก
สำหรับการเลี้ยงเป็ด โดยเฉพาะเป็ดไล่ทุ่ง กรมปศุสัตว์พร้อมด้วยผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมระดมความเห็นพร้อมทั้งปรับปรุงร่างมาตรการควบคุมโรคไข้หวัดนกในเป็ดไล่ทุ่ง ซึ่งกรมปศุสัตว์จัดทำขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและวิถีชีวิตของการเลี้ยงในธรรมชาติ โดยร่างมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกในเป็ดไล่ทุ่ง และยังเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระหว่างเป็ดไล่ทุ่งกับสัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ด นอกจากนี้ยังเป็นการควบคุมประชากรเป็ดไล่ทุ่งให้เหมาะสมกับพื้นที่เลี้ยงด้วย เนื่องจากสถานการณ์ การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 16 ล้านตัว ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคที่เหมาะสม เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งอาจได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกได้ และจะกลายเป็นปัญหาที่ยากแก่การควบคุม
ด้านการเฝ้าระวังโรคหากพบเกษตรกรพบสัตว์ปีกป่วยหรือตาย ผู้เลี้ยงหรือผู้พบเห็นต้องรีบแจ้งเครือข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกหรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทราบโดยเร็ว เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและให้ความ ช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก โดยมีสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติและศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ในพื้นที่เป็นผู้ตรวจตัวอย่างสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ซึ่งหากตรวจพบโรคไข้หวัดนกจะรายงานการเกิดโรคให้กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดจะแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดทราบภายใน 12 ชั่วโมง นับจากได้รับแจ้งผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการเพื่อดำเนินการควบคุมโรคและเฝ้าระวังโรคในพื้นที่โดยรอบและโดยเฉพาะผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีการสัมผัสเชื้อ
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งก็คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกต้องหมั่นดูแลสัตว์ปีกของตนเองและเฝ้าระวังโรคตามที่กรมปศุสัตว์ได้ประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่าง ๆ นอกจากนี้ประชาชนควรรักษาความสะอาด โดยการล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งควรบริโภคอาหารที่ปรุงสุกและถูกสุขอนามัย...หากทำได้อย่างนี้...รับรองปลอดภัยจากไข้หวัดนกแน่นอน...
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2653-4444 ต่อ 4137-8 หรือ
www.dld.go.th/birdflu หรือ E - mail :
[email protected].
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=178896&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น