6 ปี 'มกอช.' นำมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยสู่สากล
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 51
6 ปี 'มกอช.' นำมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยสู่สากล
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรไทย ทั้งสินค้าพืช ปศุสัตว์และประมงให้ทัดเทียมและเป็นที่ยอมรับของสากล พร้อมช่วยเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก ทำให้สามารถขยายช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรไทยในเวทีการค้าโลกได้เพิ่มมากขึ้น วันที่ 9 ตุลาคม 2551 นี้ เป็นวันสถาปนา มกอช. ครบรอบ 6 ปี ซึ่ง มกอช. ได้มุ่งมั่นพัฒนาการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมา เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลกในอนาคต
นางสาวเมทนี สุคนธรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ปี 2552 นี้ มกอช.ได้ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 7 แล้ว กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 271,172,900 บาท เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรทั้งระบบให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยทางด้านอาหารและตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยใช้ 6 ยุทธศาสตร์หลักเป็นแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้คือ 1. ยุทธศาสตร์การพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตั้งเป้าจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มเติมอีกไม่น้อย กว่า 25 เรื่อง 2. ยุทธศาสตร์พัฒนาสินค้าเกษตรไทยให้ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มุ่งพัฒนาหน่วยงานตรวจสอบรับรองของภาครัฐ 2 หน่วย และเอกชน 8 บริษัท ให้ได้ตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ มกอช.ได้รับรองแล้ว 12 บริษัท ทั้งจะเร่งขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ (Lab) มีเป้าหมายกว่า 10 แห่ง จากเดิมที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 74 แห่ง พร้อมตรวจติดตามและเฝ้าระวังห้องปฏิบัติการ จำนวน 30 แห่ง 3. ยุทธศาสตร์การปกป้องรักษาผลประโยชน์ สินค้าเกษตรและอาหารของไทย มุ่งสร้างความร่วมมือและดำเนินงานร่วมกัน (Partnership) กับหน่วยงานทั้งในและระหว่างประเทศ ในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ตั้งเป้าเร่งเจรจาแก้ไขปัญหาส่งออกสินค้าเกษตรมากกว่า 5 เรื่อง และเจรจาประสบความสำเร็จไม่น้อยกว่า 80% 4. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและดำเนินการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เน้นส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 5. ยุทธศาสตร์การควบคุมสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและเป็นไปตามกฎหมาย ตั้งเป้าผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกใช้เครื่องหมายรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% และ 6. ยุทธศาสตร์การพัฒนา มกอช. ให้เป็นองค์การบริหารแนวใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งมุ่งพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อให้บริการข้อมูลด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร เป้าหมายกว่า 140 เรื่อง
นอกจากนี้ นางสาวเมทนี กล่าวเพิ่มเติมว่า มกอช.มีภารกิจใหม่ คือ เร่งส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ รวมถึงการควบคุมตรวจสอบและติดตามการนำมาตรฐานฯไปใช้ด้วย อย่างไรก็ตาม มกอช.จะยังคงเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงความตกลงด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) พร้อมเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มีการเตือนภัยสินค้าเกษตรและอาหารโดยเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกแล้วกว่า 1,215 ราย
ขณะเดียวกัน มกอช. ยังมุ่งกำกับ ดูแล ตรวจสอบและควบคุมสินค้าเกษตรให้มีการปฏิบัติเป็นไปตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯ พร้อมส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ ไปใช้ตลอดห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งด้านมาตรฐานและคุณภาพที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก
และช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไทยให้เพิ่มสูงขึ้นได้ต่อไปในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 ตุลาคม 2551
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=178983&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง รวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม ปี 2551
ม.บูรพาต่อยอดงานวิจัย "หิ้งสู่ห้าง" เพิ่มมูลค่า "ปลาสลิด" บ้านแพ้ว
กรมข้าวเตือนนครนายกเฝ้าระวัง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดที่นา
ลดพิษของโลหะหนักในปลาด้วยวิตามินซี
เร่งปลูกถั่วเขียว พันธุ์ "ชัยนาท 80" นำร่องเหนือล่าง
ไทยเยี่ยมโคลนนิ่งกระทิงป่าได้สำเร็จ
"เจริญ คุ้มสุภา" ปลูกมะม่วงนอกฤดูขายญี่ปุ่น