เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 51
พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่จะใช้ “สารเคมี” เพื่อให้ผลผลิตได้ปริมาณ ได้ประโยชน์เพียงคาบเวลาหนึ่ง ปัจจุบันหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาสภาพดินเสื่อม ท้ายสุดส่งให้ผลิตผลลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ฉะนี้เกษตรกรจึงหาทางออกด้วย “เกษตรอินทรีย์” สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รณรงค์ส่งเสริมขึ้นในหลายพื้นที่ ล่าสุดจัดทำ “โครงการจัดตั้งนิคมข้าวหอมมะลิ”
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ สปก. เผยว่า หลักใหญ่ของการจัดตั้งนิคมคือ ดูความพร้อมของชุมชน ชาวบ้าน และ ความต้องการของคนส่วนใหญ่ โดยวางพื้นที่เป้าหมายไว้ 200,000 ไร่ ใน 5 จังหวัดได้แก่ ยโสธร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เนื่องจากมีชื่อเสียงและความรู้ในการทำนาเกษตรอินทรีย์
ส่วน สปก. เข้าไปสนับสนุนเรื่องของการ พัฒนาแหล่งน้ำ ส่งเสริมให้ จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโค ที่มีเป้าหมายหลักคือต้องการ ทำธนาคารปุ๋ยเคลื่อนที่ เพื่อเอาปุ๋ยกลับไปสู่แปลงนา เป้าหมายรอง คือ เลี้ยงเพื่อเอาเนื้อขาย ทั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่มีการรวมตัวเป็น “ชมรมเกษตรอินทรีย์ ชมรมรักษ์ธรรมชาติ” อยู่แล้ว จึงเป็นจุดดีที่มีองค์ความรู้อยู่ในพื้นที่ เพราะ แกนนำเหล่านี้จะไปขยายแนวคิดสู่ชุมชน อย่างเช่น พ่อใหญ่ ถาวร พิลาน้อย ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเพาะพันธุ์ข้าว แห่งหมู่บ้านโนนยาง ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร กูรูในเรื่องของ การคัดเมล็ดพันธุ์ ผสมพันธุ์ใหม่ๆ อนุรักษ์ พันธุ์เดิม บอกว่า
จากปัจจัยหลายอย่างทั้งภัยแล้ง สังคม ธุรกิจ เกษตรอุตสาหกรรมข้ามชาติ มีผลทำให้พันธุ์ข้าวเราจะสูญหาย จึงได้ปรึกษาให้ช่วยกันอนุรักษ์สายพันธุ์ดั้งเดิม พร้อมๆกับคัดปรับปรุงหาพันธุ์ที่ดี
วิธีการต้องใช้ความพิถีพิถันในการแกะเมล็ดข้าวออกดูและแกะทุกรวง วัดความสั้นความยาว ความหนาของเมล็ด ซึ่ง กว่าจะได้ข้าวลอย (ข้าวขึ้นน้ำ) นั้นแสนยาก
ซึ่งบางครั้งข้าว 4,000-5,000 เมล็ด...จะใช้ทำพันธุ์ได้เพียงเมล็ดเดียว
เมื่อสมใจแล้ว จึงค่อยนำมาเพาะใส่ในแกลบดำ จะลงดินเลยไม่ได้เพราะว่าเมล็ดข้าวสารไม่มีเกราะป้องกัน มด เชื้อราจะเข้าทำลายได้ง่าย
หลังจากนั้นราวๆ 12 วันค่อยนำมาปักดำในแปลงที่จัดสรรเป็นที่เฉพาะ ติดป้ายขึ้นทะเบียนใส่รหัส (คิดเองตั้งเอง) แล้วคอยสังเกตดูพร้อมจดบันทึก เก็บข้อมูลกระทั่งได้เมล็ดข้าว สายพันธุ์คัด...และต้องทำแบบนี้อย่างน้อยไม่ ต่ำกว่า 3 ชั่ว (อายุของฤดูปลูก) จนแน่ใจว่าสายพันธุ์ข้าวนิ่ง
ด้วยความเพียรในการหวงแหนมรดกของบรรพบุรุษ ส่งผลให้ทุกวันนี้มีพันธุ์ข้าวที่อนุรักษ์ ไว้ถึง 140-150 สายพันธุ์ ซึ่ง พ่อใหญ่ถาวร ได้บอกส่งท้ายว่า ที่ทำไปก็เพราะหวังไว้ว่า แม้ในอนาคตพื้นที่จะเหลือน้อย หากว่าเรามีเมล็ดพันธุ์ดีลูกหลานก็ยังคงมีข้าวเก็บไว้กินพอเพียงอย่างแน่นอน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 8 ตุลาคม 2551
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=106884